วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 14

ในยุคแรก โทรศัพท์ยังมีใช้อยู่ในวงจำกัด คือเฉพาะในหน่วยงานราชการเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ จึงเปิดให้ประชาชนเช่าเป็นครั้งแรก ภายใต้การดำเนินงานของกรมไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ยุคนั้นมีชื่อเรียกติดปากคนทั่วไปว่า “โทรศัพท์แม็กนิโต” (Magneto System) เป็นโทรศัพท์แบบที่มีแบตเตอรี่ภายใน ไม่มีหน้าปัดเอาไว้หมุนเบอร์ และสามารถติดต่อโทรศัพท์เครื่องอื่นได้เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น (คือจากบ้านนาย ก. ไปถึงบ้านนาย ข. โทรไปบ้านอื่นไม่ได้) เวลาใช้งานต้องหมุนคันโยกข้างเครื่องซึ่งจะทำให้สัญญาณไปดังที่ตู้ต่อสายของพนักงานซึ่งประจำอยู่ที่ชุมสายโทรศัพท์ ที่จะคอยทำหน้าที่เสียบปลั๊กต่อสายโทรศัพท์ของเราให้เชื่อมกับสายโทรศัพท์อีกเครื่อง และเมื่อต้องการวางสาย ก็ต้องหมุนคันโยกอีกครั้ง เพื่อให้พนักงานโทรศัพท์ถอดปลั๊กออก
ต่อมาจึงมีการสร้างโทรศัพท์ระบบไฟกลาง (Central Battery - C.B.) ยุคนี้หน้าตาของเครื่องโทรศัพท์ยังเหมือนเดิม ต่างกันเพียงไม่มีแบตเตอรี่ในเครื่องอีกต่อไป เพราะใช้ไฟฟ้าจากส่วนกลาง โทรศัพท์แบบนี้สามารถติดต่อโทรศัพท์ได้หลายเครื่อง โดยอาศัยการบอกพนักงานที่ชุมสายโทรศัพท์ให้ทำการต่อสายเครื่องที่โทรออกให้เชื่อมกับสายของหมายเลขที่ต้องการสนทนาได้
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงได้มีการเปลี่ยนชุมสายโทรศัพท์เป็นระบบ step by step ซึ่งถือเป็นชุมสายอัตโนมัติแบบกลไกรุ่นแรกที่ผู้ใช้สามารถหมุนเบอร์ติดต่อถึงกันได้โดยไม่ต้องผ่านพนักงานต่อสาย จากนั้นจึงมีการนำชุมสายแบบ Cross Bar และชุมสายระบบ SPC (Stored Program Control) มาใช้ ซึ่งระบบหลังสุดนี้จะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด
แม้ผู้ใช้โทรศัพท์จะสามารถพูดคุยโต้ตอบกับคนที่อยู่ปลายทาง ติดต่อธุระได้รวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลารอถึงครึ่งค่อนวันแบบโทรเลข แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคแรกๆ มาจนถึงราว ๒๐ ปีก่อน ระบบโทรศัพท์ก็ยังไม่ครอบคลุมหรือเข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้าง จำนวนเลขหมายก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แม้ในเมืองใหญ่ๆ การขอโทรศัพท์สักเลขหมายยังต้องใช้เวลานานนับปี ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและการใช้งานค่อนข้างสูง ดังนั้นสำหรับคนทั่วไป การส่งข่าวด่วนด้วยโทรเลขแม้ว่าจะช้ากว่า แต่ก็ถือเป็นทางเลือกเดียวสำหรับคนที่เข้าไม่ถึงระบบโทรศัพท์ โดยเฉพาะคนในชนบทซึ่งโครงข่ายการสื่อสารอื่นๆ ยังไปไม่ถึง
หลายปีต่อมา เมื่อความต้องการด้านการติดต่อสื่อสารเพิ่มมากขึ้น ระบบการสื่อสารชนิดใหม่ๆ จึงถูกนำมาใช้มากขึ้นผ่านหน่วยงานด้านโทรคมนาคมต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการการสื่อสารไทยในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือที่เรียกกันติดปากทั่วไปว่า “โทรศัพท์มือถือ” นั้น มีการแบ่งช่วงเวลาวิวัฒนาการออกเป็นยุคๆ ได้แก่ 1G (First Generation Mobile System) 2G (Second Generation Mobile System) และ 3G (Third Generation Mobile System)


ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น