วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 12

แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ มิตรภาพระหว่างการทำงานก็เกิดขึ้นได้ “ครั้งหนึ่งผมเคาะรหัสมอร์สส่งโทรเลขไปสระบุรี ฝ่ายรับฟังสัญญาณรับข้อความได้อย่างรวดเร็ว พอส่งข้อความเสร็จเลยถูกใจ เออเขาเก่งแฮะ ก็มีการเคาะรหัสถามชื่อเสียงเรียงนามกัน จากนั้นผมไปเยี่ยมพี่ชายที่สระบุรีทีไรก็ได้พึ่งเขาบ่อยๆ อย่างไรก็ตามเรื่องความผิดพลาด ความขัดแย้ง มันก็เป็นธรรมดาสำหรับคนทำงาน แต่ที่สำคัญต้องไม่พลาดแล้วส่งผลกระทบถึงผู้รับข่าวสาร”
นั่นหมายถึงการส่งข้อความประเภทที่อักษรตัวเดียวผิด แต่ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปทั้งประโยค เช่น “แม่หายแล้ว” แต่เจ้าหน้าที่ส่ง “ต” เข้าไปแทน “ห” ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นจริงและสร้างความปั่นป่วนไม่น้อย
“ลูกที่อยู่กรุงเทพฯ ตกอกตกใจ ร้องห่มร้องไห้ เตรียมงานศพเสียเงินมากมายกว่าจะพบว่าแม่ยังมีชีวิตอยู่”
สิ่งที่ต้องทำก็คือ ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าเวรโทรเลขกะนั้นต้องพาลูกน้องที่ทำงานพลาดไปขอโทษผู้เสียหายถึงบ้าน ซึ่งก็ไม่เสมอไปที่จะยอมความกันได้ ยิ่งถ้าหากผู้เสียหายเป็นข้าราชการมีตำแหน่งใหญ่โตด้วยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็อาจโดนหักเงินเดือนหรือถูกลงโทษทางวินัยได้ง่ายๆ
“แต่กรณีแบบที่ว่าก็มีน้อยมาก เวลาขอโทษเราก็อธิบายถึงการทำงานของเราให้เขาฟังว่ามันหนักแค่ไหน สมัยนั้นโทรเลขแต่ละวันมีเข้ามาจำนวนมาก กะหนึ่ง ๘ ชั่วโมงนี่ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งอาจต้องส่งโทรเลขถึงเกือบๆ ๕๐ ฉบับ นึกดู ห้องทำงานบนตึกที่ทำการโทรเลขกลางเป็นห้องใหญ่ ยิ่งมีคนส่งโทรเลขมากขึ้น ก็ต้องเพิ่มเครื่องส่งรหัสมอร์สและเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น นั่งเรียงกันเป็นตับ เวียนกันทำงาน ๒๔ ชั่วโมง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ร้อนขนาดต้องถอดเสื้อทำงาน หลายคนก็กินนอนกันอยู่แถวนั้น เป็นวัณโรคไปเลยก็มี เครียดจริงๆ เพราะต้องใช้สมาธิเคาะและฟังสัญญาณ คนไหนเข้ากะแล้วเจอเข้าสัก ๔๐ ฉบับนี่สลบเลย
“แต่มันก็มีเรื่องที่ทำให้ได้ยิ้มกันอยู่บ้าง อย่างข้อความประเภท ‘มาไม่ต้องมา ถ้าไม่มาให้บอกด้วย’ นี่ก็ส่งกันเยอะ (หัวเราะ) เดาว่าพวกเขาคงมีความสัมพันธ์กัน แต่อย่างว่า เรามีหน้าที่รับแล้วส่งข้อความต่อให้ถึงปลายทาง กระดาษข้อความผ่านไปที่ใครก็ยิ้มกันสนุกสนาน แต่แพร่งพรายไม่ได้เพราะมีระเบียบห้ามไว้”
แต่ในที่สุด บรรยากาศการทำงานแบบนี้ก็ค่อยๆ หายไปเมื่อระบบโทรพิมพ์เข้ามาแทนที่เต็มตัว
“โทรพิมพ์เข้ามาแทนเครื่องส่งรหัสมอร์สอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ แล้วครับ คนทำงานเรียกชื่อเล่นของมันว่า ‘ไอ้โม่ง’ เครื่องใหญ่มาก มันคือพิมพ์ดีดดีๆ นี่เอง แต่เหมือนโทรศัพท์ตรงที่มีหมายเลขประจำเครื่อง อยากส่งข้อความไปไหนก็กดหมายเลขเครื่องปลายทาง ถ้าทางนั้นออนไลน์ เครื่องจะบอกว่าพร้อมส่ง เราก็พิมพ์ข้อความ การส่งแบบโทรพิมพ์ใช้สัญญาณไฟฟ้าที่ไม่ใช่รหัสมอร์สในการส่งแล้วนะครับ”
ลุงสุรสิทธิ์ออกท่าทางยงโย่ยงหยก “เวลาพิมพ์ต้องใช้แรงเยอะ เสียงจะดังแป๊ะๆๆๆๆ ทำงานกับโทรพิมพ์นี่ก็หนักเหมือนกัน ถึงแม้ปริมาณงานต่อวันจะทำได้มากกว่าสมัยที่ใช้เครื่องส่งรหัสมอร์ส เพราะเป็นการพิมพ์ข้อความโดยตัดขั้นตอนการแปลงข้อความเป็นรหัสมอร์สออกไป แต่จำนวนโทรเลขที่ต้องส่งมันก็เพิ่มขึ้นด้วย กะหนึ่งนี่ผมเคยเจอถึง ๓๐๐ ฉบับมาแล้ว แย่เลย”

ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น