วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 11

แม้ในยุคเฟื่องฟูของโทรเลขเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ทำการไปรษณีย์แต่ละแห่งจะมียอดรับ-ส่งโทรเลขนับพันฉบับต่อวัน แต่ดูเหมือนการติดตามร่องรอยเก่าๆ ของโทรเลข โดยเฉพาะโทรเลขที่อยู่ในวิถีชีวิตคนธรรมดาสามัญจะไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนหนึ่งคงเพราะคนส่วนใหญ่ใช้โทรเลขเพื่อแจ้งข่าวสาร เมื่อผู้รับได้ทราบข่าวเหล่านั้นแล้ว โทรเลขที่ไปถึงมือก็ดูจะหมดความหมาย พร้อมจะทิ้งลงถังได้ทุกเมื่อ ทั้งในส่วนต้นทางอย่างกรมไปรษณีย์โทรเลขเวลานั้น หรือแม้ไปรษณีย์ไทยในยุคนี้ หากไม่ใช่โทรเลขที่ใช้ติดต่อทางราชการ สำเนาโทรเลขเหล่านั้นก็จะถูกทำลายทิ้งหลังเก็บรักษาไว้ครบ ๒ ปี เพราะถือเป็นเอกสารที่ห้ามเผยแพร่
ดังนั้น นอกจากโทรเลขไม่กี่ฉบับที่อาจมีผู้เก็บรักษาเอาไว้ด้วยเหตุผลพิเศษบางประการแล้ว ร่องรอยโทรเลขที่เราพอติดตามได้จึงดูจะเหลืออยู่แต่ในความทรงจำของคนรุ่นเก่าที่เคยคุ้นต่อการสื่อสารชนิดนี้ กับคนอีกกลุ่มที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตคลุกคลีอยู่กับมัน ดังเช่นกลุ่มคุณลุงเจ้าหน้าที่ประจำที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้ รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่ประจำที่ทำการโทรเลขกลาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางระบบโทรเลขของไทย
“มีบ้างเหมือนกันที่คนใช้โทรเลขส่งข้อความแบบอื่นที่ไม่ใช่ข่าวร้าย อย่างเช่น ‘เดินทางถึงที่หมายแล้ว’ ‘ขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือ’ แต่ลักษณะนี้รู้สึกว่าเพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงหลัง และต้องเป็นคนที่รู้จักโทรเลขดีแล้วถึงจะใช้งานลักษณะนี้ โดยทั่วไป คนที่นานๆ ใช้ทีหรือนานๆ จะได้รับโทรเลขสักที พอพูดถึงโทรเลขก็มักจะนึกถึงข่าวร้ายก่อนเสมอ”
ลุงสุรสิทธิ์ยังจำบรรยากาศการทำงานในที่ทำการโทรเลขกลางช่วงก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้ดี ช่วงนั้นถือเป็นยุคท้ายๆ ของการส่งโทรเลขด้วยเครื่องส่งรหัสมอร์ส เพราะได้มีการนำโทรพิมพ์ (ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๒) มาใช้ส่งโทรเลขแทนเครื่องส่งรหัสมอร์สเป็นส่วนใหญ่แล้ว
“สมัยแรกๆ ใครเชี่ยวชาญรหัสมอร์สจะก้าวหน้าเร็วมาก เพราะถ้าคุณไม่เก่งวิชานี้ เวลาทำงานจะติดๆ ขัดๆ เรื่องนี้ทำให้หน้าตึกที่ทำการโทรเลขกลางสมัยก่อนกลายเป็นสนามมวยประจำ (หัวเราะ)
“เรื่องของเรื่องเกิดจากพนักงานที่ต้นทางกับปลายทางซึ่งต้องทำงานด้วยกันไม่เข้าใจกัน การรับ-ส่งโทรเลขด้วยเครื่องส่งรหัสมอร์ส นอกจากคนส่งต้องชำนาญแล้ว ยังต้องเข้าใจคนรับด้วย เพราะความสามารถของคนเราแตกต่างกัน เช่นส่งจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ปลายทางอาจ ‘เคาะเบรก’ คือกดตัวรับรหัสมอร์สฝั่งเขาค้าง เพื่อบอกว่าฟังสัญญาณไม่ทัน ต้นทางก็ต้องส่งอีกครั้ง พอโดนเบรกบ่อยๆ เข้าก็จะมีการด่าหรือต่อว่ากันด้วยรหัสมอร์สนั่นละ บางคนโดนว่าแล้วโมโห นั่งรถมาจากต่างจังหวัดแล้วเรียกคู่กรณีลงไปคุย เจ็บตัวทั้งคู่ ซึ่งจริงๆ ทุกคนก็พยายามอะลุ่มอล่วยเพราะเกิดเรื่องทะเลาะกันถือว่าผิดวินัยครับ”


ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น