วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 6

เมื่อปฏิเสธมิสเตอร์รีดแล้ว สยามจึงต้องเริ่มวางระบบโทรเลขทันที โดยขอประสานกิจการกับบริษัทแห่งหนึ่งที่ดำเนินกิจการโทรเลขในสหพันธรัฐมลายา (มาเลเซีย) แต่กระนั้นก็ไม่ประสบผลสำเร็จจนต้องหยุดโครงการไปพักใหญ่ มาเริ่มต้นเอาจริงๆ ก็เมื่อเมอซิเออร์กาเนียร์ กงสุลฝรั่งเศส เข้ามาเจรจาในปีเดียวกัน ปรากฏบันทึกใน หนังสือที่ระลึก ๑๐๐ ปี การโทรคมนาคม ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยว่า
“ทางการเมืองไซ่ง่อนปรารถนาจะสร้างสายโทรเลขต่อเข้ามาในประเทศไทย การเดินสายโทรเลขในเขตของไทย รัฐบาลฝรั่งเศสรับเป็นธุระจัดสร้างให้เสร็จ เพียงแต่ขอความช่วยเหลือให้ประเทศไทยตัดเสาที่จะพาดสายให้เท่านั้น เมื่อทำการแล้วเสร็จ ก็จะยกทางสายโทรเลขให้เปล่าตั้งแต่เขตแดนเขมรเข้ามาจนถึงกรุงเทพฯ”
ส่งผลให้ “รัฐบาลอังกฤษซึ่งเป็นคู่แข่งขันกัน ยื่นหนังสือขอให้งดการที่จะรับทำกับฝรั่งเศสเสีย และว่ารัฐบาลอังกฤษที่ประเทศอินเดีย จะขอสร้างสายโทรเลขติดต่อกับไทยเข้ามาทางเมืองทวายบ้าง”
เพื่อตัดปัญหาที่เกิดขึ้น รัชกาลที่ ๕ จึงทรงตัดสินพระทัยสร้างระบบโทรเลขเองทันที โดยให้อยู่ในความดูแลของกรมกลาโหม จากนั้นได้ทำการวางสายโทรเลขสายแรก คือ สายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ และสายที่ ๒ คือ สายกรุงเทพฯ-บางปะอิน ในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ โดยในระยะแรกจะมีการใช้โทรเลขในทางราชการเท่านั้น กระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๖ จึงเปิดโทรเลขสายตะวันออก (กรุงเทพฯ-ไซ่ง่อน) เป็นบริการสาธารณะ โทรเลขสายนี้ยังถือเป็นสายแรกของไทยที่สามารถติดต่อกับต่างประเทศได้โดยตรงอีกด้วย
นับแต่นั้น โทรเลขก็กลายเป็นระบบการสื่อสารสำหรับคนทุกระดับชั้น ตั้งแต่กษัตริย์ถึงสามัญชน




ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น