วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 4

เวลาที่ผ่านไป นอกจากระบบการรับ-ส่งข้อความจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากแล้ว ในส่วนของคนทำงานเองก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด พ้นไปจากด้านทักษะความชำนาญแล้ว ปัญหายังอยู่ที่จำนวนคนด้วย เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่ๆ เข้ามาเป็นทางเลือกของผู้คน ความนิยมในการใช้โทรเลขก็ลดน้อยถอยลงตามลำดับ เมื่อความต้องการลดลง กำลังเจ้าหน้าที่ที่พร้อมให้บริการก็ลดจำนวนลงตาม จากที่เคยมีอยู่หลายสิบคน ก็เหลือเพียง ๑ คนต่อที่ทำการไปรษณีย์ ๑ แห่ง ปราศจาก “บุรุษโทรเลข” ที่พร้อมจัดส่งโทรเลขถึงมือผู้รับในทุกชั่วโมงเช่นที่เคยเป็นมา ต้องอาศัยบุรุษไปรษณีย์ในการส่งโทรเลขผ่านระบบไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) สุดท้าย เครื่องไม้เครื่องมือในการส่ง แม้จะได้รับการพัฒนาเป็นระบบคอมพิวเตอร์ แต่ปัจจุบันก็ขาดการบำรุงรักษาจนเกิดปัญหาขัดข้องขึ้นเป็นระยะ โทรเลขวันนี้จึงเป็นการสื่อสารที่ไม่ด่วนอีกต่อไป เพราะบางทีอาจต้องใช้เวลาเกือบ ๕ วัน แทนที่จะถึงมือผู้รับได้ภายใน ๑ วันหรือเร็วกว่านั้น
ปัจจุบัน ดูจะเหลือเพียงที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่เครื่องไม้เครื่องมือยังคงพร้อม และเจ้าหน้าที่ยังคงมีประสิทธิภาพแม้ว่าแต่ละคนจะอยู่ในวัยใกล้เกษียณเต็มที อาจเพราะที่ทำการฯ แห่งนี้เป็นที่รวมของ “เจ้าหน้าที่โทรเลข” ตัวจริง ซึ่งทำงานมาตั้งแต่ยุคที่โทรเลขยังอาศัยรหัสมอร์สส่งข้อความ
“เมื่อไม่นานมานี้ มีคนญี่ปุ่นคนหนึ่งขับรถมาจากพัทยา เขาจะส่งโทรเลขกลับบ้าน ต้องมาส่งที่กรุงเทพฯ เพราะที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งที่เขาไปบอกว่าไม่มีบริการ ปัญหามันมากจริงๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ส่งโทรเลขในที่ทำการไปรษณีย์แห่งนั้นอาจจะเสียแล้วไม่มีการซ่อม ก็น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่นั่นนะครับ” เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งเอ่ยอย่างปลงๆ
และอาจด้วยเหตุนี้ บริการโทรเลขที่ซบเซาอยู่แล้วจึงมีสถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก จนแทบไม่เหลือเค้าว่า ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นระบบการสื่อสารที่รวดเร็วและทันสมัยที่สุดของสยาม



ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น