วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 13


หลังจาก “ไอ้โม่ง” เข้ามาแทนที่เครื่องส่งรหัสมอร์สในที่ทำการโทรเลขกลาง มันก็ค่อยๆ ขยับขยายไปยังชุมสายย่อยตามต่างจังหวัดซึ่งมีปริมาณการรับ-ส่งโทรเลขเกิน ๑๐๐ ฉบับต่อวัน โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ๆ เช่นเชียงใหม่ รวมถึงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
“ส่วนในพื้นที่ห่างไกลที่จำนวนการรับ-ส่งโทรเลขเฉลี่ยต่ำกว่า ๑๐ ฉบับต่อวันก็ยังใช้ระบบเดิม ซึ่งเราก็ต้องหาวิธีจัดการในกรณีที่ต้นทาง-ปลายทางมีเครื่องมือต่างชนิดกัน เช่นถ้าต้องการส่งโทรเลขไปอำเภอห่างไกลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ต้องเริ่มจากส่งข้อความด้วยโทรพิมพ์ที่กรุงเทพฯ ไปที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีโทรพิมพ์เหมือนกันก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่นั่นก็จะส่งข้อความต่อเป็นรหัสมอร์สไปยังที่ทำการโทรเลข ณ อำเภอปลายทางที่ผู้รับอาศัยอยู่ ซึ่งที่นั่นก็จะมีเครื่องรับสัญญาณรหัสมอร์สที่สามารถติดต่อกับอำเภอเมืองได้”
ยุคของโทรพิมพ์ดำเนินต่อไปจนมีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ กล่าวคือ ที่ทำการโทรเลขกลางได้ถูกเปลี่ยนเป็นชุมสายโทรเลขอัตโนมัติ (Message Switching Center) โดยมีคอมพิวเตอร์ระดับเมนเฟรมขนาดใหญ่เท่าห้องรับแขกมาทำงานแทนระบบการรับ-ส่งโทรเลขแบบเดิม
“สาเหตุหนึ่งที่ต้องมีการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ ก็เพราะถ้ามัวแต่ใช้ของเก่าคงไม่ทันกิน ตัวอย่างเช่น สมัยแรกเราส่งโทรเลขด้วยรหัสมอร์สฉบับหนึ่งใช้เวลาราว ๑๐ นาทีก็ถึงที่ทำการโทรเลขปลายทาง นี่เร็วแล้วนะครับ มาถึงยุคโทรพิมพ์ก็ใช้เวลาน้อยกว่า ส่วนคอมพิวเตอร์จะเร็วกว่านั้นอีก คือราว ๒ นาทีก็ถึง เรื่องความเร็วนี้ไม่นับรวมเวลาในการจัดส่งให้ถึงมือผู้รับนะครับ เพราะสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับคน”
ในที่สุดคอมพิวเตอร์ก็เข้ามาแทนที่เครื่องโทรพิมพ์ทั้งหมด ที่ทำการโทรเลขทุกแห่งทยอยเปลี่ยนเครื่องรับ-ส่งโทรเลขจากเครื่องส่งรหัสมอร์สและโทรพิมพ์มาเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ชุมสายโทรเลขอัตโนมัติลดกำลังเจ้าหน้าที่จากหลายร้อยคนเหลือเพียงผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์กับผู้ดูแลศูนย์ถ่ายทอดโทรเลขอีกไม่กี่สิบคนเท่านั้น ส่วนที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ประจำมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณงาน
แต่ไม่ว่าโทรเลขจะพยายามพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเองไปเพียงไร มันก็ดูจะช้าเกินไปสำหรับโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน...
ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น