วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 9

ในยุคนั้นสายโทรเลขยังมีความสำคัญมาก รัฐบาลต้องคอยดูแลรักษาให้ใช้งานได้ดีตลอดเวลา เห็นได้จากเอกสารโต้ตอบระหว่างพระยาเสถียรฐาปนกิตย์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงโยธาธิการ กับพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ปลัดทูลฉลองกระทรวงนครบาล ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ กรณีที่มี “ว่าวแลสายป่านไปพันสายโทรเลข” อยู่บ่อยครั้ง โดยกระทรวงโยธาธิการซึ่งดูแลกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้รับการร้องเรียนจากปลัดกรมไปรษณีย์โทรเลขว่าพลตระเวนของกระทรวงนครบาลไม่ดูแลกวดขันการเล่นว่าวของราษฎรมากเท่าที่ควร ทำให้ว่าวไปพันสายโทรเลขอยู่บ่อยๆ ต้องคอยแก้สายป่านลงมาเป็นระยะๆ เพราะเป็นอุปสรรคต่อระบบการสื่อสาร โดยในหนังสือราชการดังกล่าวนั้นได้มีการแนบ “ว่าวแลสายป่านซึ่งติดพันสายโทรเลข” ไปด้วย เพื่อยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง และขอให้กระทรวงนครบาลดำเนินการหลังจากร้องขอมาหลายครั้งแล้ว
ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ถือได้ว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในเวลานั้น โทรเลขจึงได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในหลายด้าน ไม่ว่าในด้านการแจ้งข่าวสารสำคัญ ดังเช่นโทรเลขของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ที่รายงานผลการแข่งรถของ “พระองค์เจ้าพีระ” ราชานักแข่งรถไทย กลับมาที่พระตำหนักในกรุงเทพฯ ด้วยขณะนั้นทรงทำหน้าที่ผู้จัดการคอกรถแข่ง “หนูขาว” ทีมรถแข่งทีมเดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุโรปช่วง พ.ศ. ๒๔๗๙-๒๔๘๑
ในเชิงการทูต โทรเลขก็ถูกใช้เป็นสื่อแสดงถึงสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างผู้นำประเทศ ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้จัดส่งโทรเลขถวายพระพรแด่กษัตริย์ สมเด็จพระราชินี รวมถึงผู้นำประเทศต่างๆ ตามวาระโอกาสอันเหมาะสม อาทิ วันเฉลิมพระชนมพรรษา เทศกาลปีใหม่ ฯลฯ ทั้งนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ยังปรากฏโทรเลขตามธรรมเนียมการทูตของนายปรีดี พนมยงค์ ในนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถึง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนีเวลานั้น เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ แม้ว่าขณะนั้นนายปรีดีจะทำหน้าที่หัวหน้าเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น ประเทศร่วมฝ่ายอักษะของผู้นำเยอรมนี อย่างลับๆ อยู่ด้วยก็ตาม
นอกเหนือไปกว่านั้น โทรเลขยังได้ก้าวเข้าไปมีบทบาทสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ที่เด่นชัดคือคราวที่เกิด “กบฏบวรเดช” ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ รัฐบาลคณะราษฎรได้ใช้โทรเลขในการสั่งการข้าราชการหัวเมืองต่อสู้กับฝ่ายกบฏ หลายฉบับมีรายละเอียดเป็นคำสั่งให้ระวังที่ทำการโทรเลขอย่างเข้มงวด บางฉบับเป็นรายงานสถานการณ์ ซึ่งต่อมาถูกส่งไปที่นายกรัฐมนตรีคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ทั้งหมด และปัจจุบัน สำเนาโทรเลขไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ก็ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติในฐานะเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์
ที่น่าสนใจก็คือ ความสำคัญของโทรเลขในเชิงยุทธศาสตร์นี้ยังปรากฏให้เห็นต่อเนื่องมาแม้ในยุคหลังที่ระบบการสื่อสารของไทยก้าวหน้าพัฒนาไปจากเดิมมากแล้ว


ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น