วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 14

ในยุคแรก โทรศัพท์ยังมีใช้อยู่ในวงจำกัด คือเฉพาะในหน่วยงานราชการเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ จึงเปิดให้ประชาชนเช่าเป็นครั้งแรก ภายใต้การดำเนินงานของกรมไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ยุคนั้นมีชื่อเรียกติดปากคนทั่วไปว่า “โทรศัพท์แม็กนิโต” (Magneto System) เป็นโทรศัพท์แบบที่มีแบตเตอรี่ภายใน ไม่มีหน้าปัดเอาไว้หมุนเบอร์ และสามารถติดต่อโทรศัพท์เครื่องอื่นได้เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น (คือจากบ้านนาย ก. ไปถึงบ้านนาย ข. โทรไปบ้านอื่นไม่ได้) เวลาใช้งานต้องหมุนคันโยกข้างเครื่องซึ่งจะทำให้สัญญาณไปดังที่ตู้ต่อสายของพนักงานซึ่งประจำอยู่ที่ชุมสายโทรศัพท์ ที่จะคอยทำหน้าที่เสียบปลั๊กต่อสายโทรศัพท์ของเราให้เชื่อมกับสายโทรศัพท์อีกเครื่อง และเมื่อต้องการวางสาย ก็ต้องหมุนคันโยกอีกครั้ง เพื่อให้พนักงานโทรศัพท์ถอดปลั๊กออก
ต่อมาจึงมีการสร้างโทรศัพท์ระบบไฟกลาง (Central Battery - C.B.) ยุคนี้หน้าตาของเครื่องโทรศัพท์ยังเหมือนเดิม ต่างกันเพียงไม่มีแบตเตอรี่ในเครื่องอีกต่อไป เพราะใช้ไฟฟ้าจากส่วนกลาง โทรศัพท์แบบนี้สามารถติดต่อโทรศัพท์ได้หลายเครื่อง โดยอาศัยการบอกพนักงานที่ชุมสายโทรศัพท์ให้ทำการต่อสายเครื่องที่โทรออกให้เชื่อมกับสายของหมายเลขที่ต้องการสนทนาได้
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงได้มีการเปลี่ยนชุมสายโทรศัพท์เป็นระบบ step by step ซึ่งถือเป็นชุมสายอัตโนมัติแบบกลไกรุ่นแรกที่ผู้ใช้สามารถหมุนเบอร์ติดต่อถึงกันได้โดยไม่ต้องผ่านพนักงานต่อสาย จากนั้นจึงมีการนำชุมสายแบบ Cross Bar และชุมสายระบบ SPC (Stored Program Control) มาใช้ ซึ่งระบบหลังสุดนี้จะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด
แม้ผู้ใช้โทรศัพท์จะสามารถพูดคุยโต้ตอบกับคนที่อยู่ปลายทาง ติดต่อธุระได้รวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลารอถึงครึ่งค่อนวันแบบโทรเลข แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคแรกๆ มาจนถึงราว ๒๐ ปีก่อน ระบบโทรศัพท์ก็ยังไม่ครอบคลุมหรือเข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้าง จำนวนเลขหมายก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แม้ในเมืองใหญ่ๆ การขอโทรศัพท์สักเลขหมายยังต้องใช้เวลานานนับปี ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและการใช้งานค่อนข้างสูง ดังนั้นสำหรับคนทั่วไป การส่งข่าวด่วนด้วยโทรเลขแม้ว่าจะช้ากว่า แต่ก็ถือเป็นทางเลือกเดียวสำหรับคนที่เข้าไม่ถึงระบบโทรศัพท์ โดยเฉพาะคนในชนบทซึ่งโครงข่ายการสื่อสารอื่นๆ ยังไปไม่ถึง
หลายปีต่อมา เมื่อความต้องการด้านการติดต่อสื่อสารเพิ่มมากขึ้น ระบบการสื่อสารชนิดใหม่ๆ จึงถูกนำมาใช้มากขึ้นผ่านหน่วยงานด้านโทรคมนาคมต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการการสื่อสารไทยในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือที่เรียกกันติดปากทั่วไปว่า “โทรศัพท์มือถือ” นั้น มีการแบ่งช่วงเวลาวิวัฒนาการออกเป็นยุคๆ ได้แก่ 1G (First Generation Mobile System) 2G (Second Generation Mobile System) และ 3G (Third Generation Mobile System)


ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 13


หลังจาก “ไอ้โม่ง” เข้ามาแทนที่เครื่องส่งรหัสมอร์สในที่ทำการโทรเลขกลาง มันก็ค่อยๆ ขยับขยายไปยังชุมสายย่อยตามต่างจังหวัดซึ่งมีปริมาณการรับ-ส่งโทรเลขเกิน ๑๐๐ ฉบับต่อวัน โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ๆ เช่นเชียงใหม่ รวมถึงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
“ส่วนในพื้นที่ห่างไกลที่จำนวนการรับ-ส่งโทรเลขเฉลี่ยต่ำกว่า ๑๐ ฉบับต่อวันก็ยังใช้ระบบเดิม ซึ่งเราก็ต้องหาวิธีจัดการในกรณีที่ต้นทาง-ปลายทางมีเครื่องมือต่างชนิดกัน เช่นถ้าต้องการส่งโทรเลขไปอำเภอห่างไกลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ต้องเริ่มจากส่งข้อความด้วยโทรพิมพ์ที่กรุงเทพฯ ไปที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีโทรพิมพ์เหมือนกันก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่นั่นก็จะส่งข้อความต่อเป็นรหัสมอร์สไปยังที่ทำการโทรเลข ณ อำเภอปลายทางที่ผู้รับอาศัยอยู่ ซึ่งที่นั่นก็จะมีเครื่องรับสัญญาณรหัสมอร์สที่สามารถติดต่อกับอำเภอเมืองได้”
ยุคของโทรพิมพ์ดำเนินต่อไปจนมีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ กล่าวคือ ที่ทำการโทรเลขกลางได้ถูกเปลี่ยนเป็นชุมสายโทรเลขอัตโนมัติ (Message Switching Center) โดยมีคอมพิวเตอร์ระดับเมนเฟรมขนาดใหญ่เท่าห้องรับแขกมาทำงานแทนระบบการรับ-ส่งโทรเลขแบบเดิม
“สาเหตุหนึ่งที่ต้องมีการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ ก็เพราะถ้ามัวแต่ใช้ของเก่าคงไม่ทันกิน ตัวอย่างเช่น สมัยแรกเราส่งโทรเลขด้วยรหัสมอร์สฉบับหนึ่งใช้เวลาราว ๑๐ นาทีก็ถึงที่ทำการโทรเลขปลายทาง นี่เร็วแล้วนะครับ มาถึงยุคโทรพิมพ์ก็ใช้เวลาน้อยกว่า ส่วนคอมพิวเตอร์จะเร็วกว่านั้นอีก คือราว ๒ นาทีก็ถึง เรื่องความเร็วนี้ไม่นับรวมเวลาในการจัดส่งให้ถึงมือผู้รับนะครับ เพราะสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับคน”
ในที่สุดคอมพิวเตอร์ก็เข้ามาแทนที่เครื่องโทรพิมพ์ทั้งหมด ที่ทำการโทรเลขทุกแห่งทยอยเปลี่ยนเครื่องรับ-ส่งโทรเลขจากเครื่องส่งรหัสมอร์สและโทรพิมพ์มาเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ชุมสายโทรเลขอัตโนมัติลดกำลังเจ้าหน้าที่จากหลายร้อยคนเหลือเพียงผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์กับผู้ดูแลศูนย์ถ่ายทอดโทรเลขอีกไม่กี่สิบคนเท่านั้น ส่วนที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ประจำมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณงาน
แต่ไม่ว่าโทรเลขจะพยายามพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเองไปเพียงไร มันก็ดูจะช้าเกินไปสำหรับโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน...
ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 12

แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ มิตรภาพระหว่างการทำงานก็เกิดขึ้นได้ “ครั้งหนึ่งผมเคาะรหัสมอร์สส่งโทรเลขไปสระบุรี ฝ่ายรับฟังสัญญาณรับข้อความได้อย่างรวดเร็ว พอส่งข้อความเสร็จเลยถูกใจ เออเขาเก่งแฮะ ก็มีการเคาะรหัสถามชื่อเสียงเรียงนามกัน จากนั้นผมไปเยี่ยมพี่ชายที่สระบุรีทีไรก็ได้พึ่งเขาบ่อยๆ อย่างไรก็ตามเรื่องความผิดพลาด ความขัดแย้ง มันก็เป็นธรรมดาสำหรับคนทำงาน แต่ที่สำคัญต้องไม่พลาดแล้วส่งผลกระทบถึงผู้รับข่าวสาร”
นั่นหมายถึงการส่งข้อความประเภทที่อักษรตัวเดียวผิด แต่ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปทั้งประโยค เช่น “แม่หายแล้ว” แต่เจ้าหน้าที่ส่ง “ต” เข้าไปแทน “ห” ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นจริงและสร้างความปั่นป่วนไม่น้อย
“ลูกที่อยู่กรุงเทพฯ ตกอกตกใจ ร้องห่มร้องไห้ เตรียมงานศพเสียเงินมากมายกว่าจะพบว่าแม่ยังมีชีวิตอยู่”
สิ่งที่ต้องทำก็คือ ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าเวรโทรเลขกะนั้นต้องพาลูกน้องที่ทำงานพลาดไปขอโทษผู้เสียหายถึงบ้าน ซึ่งก็ไม่เสมอไปที่จะยอมความกันได้ ยิ่งถ้าหากผู้เสียหายเป็นข้าราชการมีตำแหน่งใหญ่โตด้วยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็อาจโดนหักเงินเดือนหรือถูกลงโทษทางวินัยได้ง่ายๆ
“แต่กรณีแบบที่ว่าก็มีน้อยมาก เวลาขอโทษเราก็อธิบายถึงการทำงานของเราให้เขาฟังว่ามันหนักแค่ไหน สมัยนั้นโทรเลขแต่ละวันมีเข้ามาจำนวนมาก กะหนึ่ง ๘ ชั่วโมงนี่ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งอาจต้องส่งโทรเลขถึงเกือบๆ ๕๐ ฉบับ นึกดู ห้องทำงานบนตึกที่ทำการโทรเลขกลางเป็นห้องใหญ่ ยิ่งมีคนส่งโทรเลขมากขึ้น ก็ต้องเพิ่มเครื่องส่งรหัสมอร์สและเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น นั่งเรียงกันเป็นตับ เวียนกันทำงาน ๒๔ ชั่วโมง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ร้อนขนาดต้องถอดเสื้อทำงาน หลายคนก็กินนอนกันอยู่แถวนั้น เป็นวัณโรคไปเลยก็มี เครียดจริงๆ เพราะต้องใช้สมาธิเคาะและฟังสัญญาณ คนไหนเข้ากะแล้วเจอเข้าสัก ๔๐ ฉบับนี่สลบเลย
“แต่มันก็มีเรื่องที่ทำให้ได้ยิ้มกันอยู่บ้าง อย่างข้อความประเภท ‘มาไม่ต้องมา ถ้าไม่มาให้บอกด้วย’ นี่ก็ส่งกันเยอะ (หัวเราะ) เดาว่าพวกเขาคงมีความสัมพันธ์กัน แต่อย่างว่า เรามีหน้าที่รับแล้วส่งข้อความต่อให้ถึงปลายทาง กระดาษข้อความผ่านไปที่ใครก็ยิ้มกันสนุกสนาน แต่แพร่งพรายไม่ได้เพราะมีระเบียบห้ามไว้”
แต่ในที่สุด บรรยากาศการทำงานแบบนี้ก็ค่อยๆ หายไปเมื่อระบบโทรพิมพ์เข้ามาแทนที่เต็มตัว
“โทรพิมพ์เข้ามาแทนเครื่องส่งรหัสมอร์สอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ แล้วครับ คนทำงานเรียกชื่อเล่นของมันว่า ‘ไอ้โม่ง’ เครื่องใหญ่มาก มันคือพิมพ์ดีดดีๆ นี่เอง แต่เหมือนโทรศัพท์ตรงที่มีหมายเลขประจำเครื่อง อยากส่งข้อความไปไหนก็กดหมายเลขเครื่องปลายทาง ถ้าทางนั้นออนไลน์ เครื่องจะบอกว่าพร้อมส่ง เราก็พิมพ์ข้อความ การส่งแบบโทรพิมพ์ใช้สัญญาณไฟฟ้าที่ไม่ใช่รหัสมอร์สในการส่งแล้วนะครับ”
ลุงสุรสิทธิ์ออกท่าทางยงโย่ยงหยก “เวลาพิมพ์ต้องใช้แรงเยอะ เสียงจะดังแป๊ะๆๆๆๆ ทำงานกับโทรพิมพ์นี่ก็หนักเหมือนกัน ถึงแม้ปริมาณงานต่อวันจะทำได้มากกว่าสมัยที่ใช้เครื่องส่งรหัสมอร์ส เพราะเป็นการพิมพ์ข้อความโดยตัดขั้นตอนการแปลงข้อความเป็นรหัสมอร์สออกไป แต่จำนวนโทรเลขที่ต้องส่งมันก็เพิ่มขึ้นด้วย กะหนึ่งนี่ผมเคยเจอถึง ๓๐๐ ฉบับมาแล้ว แย่เลย”

ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 11

แม้ในยุคเฟื่องฟูของโทรเลขเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ทำการไปรษณีย์แต่ละแห่งจะมียอดรับ-ส่งโทรเลขนับพันฉบับต่อวัน แต่ดูเหมือนการติดตามร่องรอยเก่าๆ ของโทรเลข โดยเฉพาะโทรเลขที่อยู่ในวิถีชีวิตคนธรรมดาสามัญจะไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนหนึ่งคงเพราะคนส่วนใหญ่ใช้โทรเลขเพื่อแจ้งข่าวสาร เมื่อผู้รับได้ทราบข่าวเหล่านั้นแล้ว โทรเลขที่ไปถึงมือก็ดูจะหมดความหมาย พร้อมจะทิ้งลงถังได้ทุกเมื่อ ทั้งในส่วนต้นทางอย่างกรมไปรษณีย์โทรเลขเวลานั้น หรือแม้ไปรษณีย์ไทยในยุคนี้ หากไม่ใช่โทรเลขที่ใช้ติดต่อทางราชการ สำเนาโทรเลขเหล่านั้นก็จะถูกทำลายทิ้งหลังเก็บรักษาไว้ครบ ๒ ปี เพราะถือเป็นเอกสารที่ห้ามเผยแพร่
ดังนั้น นอกจากโทรเลขไม่กี่ฉบับที่อาจมีผู้เก็บรักษาเอาไว้ด้วยเหตุผลพิเศษบางประการแล้ว ร่องรอยโทรเลขที่เราพอติดตามได้จึงดูจะเหลืออยู่แต่ในความทรงจำของคนรุ่นเก่าที่เคยคุ้นต่อการสื่อสารชนิดนี้ กับคนอีกกลุ่มที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตคลุกคลีอยู่กับมัน ดังเช่นกลุ่มคุณลุงเจ้าหน้าที่ประจำที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้ รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่ประจำที่ทำการโทรเลขกลาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางระบบโทรเลขของไทย
“มีบ้างเหมือนกันที่คนใช้โทรเลขส่งข้อความแบบอื่นที่ไม่ใช่ข่าวร้าย อย่างเช่น ‘เดินทางถึงที่หมายแล้ว’ ‘ขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือ’ แต่ลักษณะนี้รู้สึกว่าเพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงหลัง และต้องเป็นคนที่รู้จักโทรเลขดีแล้วถึงจะใช้งานลักษณะนี้ โดยทั่วไป คนที่นานๆ ใช้ทีหรือนานๆ จะได้รับโทรเลขสักที พอพูดถึงโทรเลขก็มักจะนึกถึงข่าวร้ายก่อนเสมอ”
ลุงสุรสิทธิ์ยังจำบรรยากาศการทำงานในที่ทำการโทรเลขกลางช่วงก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้ดี ช่วงนั้นถือเป็นยุคท้ายๆ ของการส่งโทรเลขด้วยเครื่องส่งรหัสมอร์ส เพราะได้มีการนำโทรพิมพ์ (ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๒) มาใช้ส่งโทรเลขแทนเครื่องส่งรหัสมอร์สเป็นส่วนใหญ่แล้ว
“สมัยแรกๆ ใครเชี่ยวชาญรหัสมอร์สจะก้าวหน้าเร็วมาก เพราะถ้าคุณไม่เก่งวิชานี้ เวลาทำงานจะติดๆ ขัดๆ เรื่องนี้ทำให้หน้าตึกที่ทำการโทรเลขกลางสมัยก่อนกลายเป็นสนามมวยประจำ (หัวเราะ)
“เรื่องของเรื่องเกิดจากพนักงานที่ต้นทางกับปลายทางซึ่งต้องทำงานด้วยกันไม่เข้าใจกัน การรับ-ส่งโทรเลขด้วยเครื่องส่งรหัสมอร์ส นอกจากคนส่งต้องชำนาญแล้ว ยังต้องเข้าใจคนรับด้วย เพราะความสามารถของคนเราแตกต่างกัน เช่นส่งจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ปลายทางอาจ ‘เคาะเบรก’ คือกดตัวรับรหัสมอร์สฝั่งเขาค้าง เพื่อบอกว่าฟังสัญญาณไม่ทัน ต้นทางก็ต้องส่งอีกครั้ง พอโดนเบรกบ่อยๆ เข้าก็จะมีการด่าหรือต่อว่ากันด้วยรหัสมอร์สนั่นละ บางคนโดนว่าแล้วโมโห นั่งรถมาจากต่างจังหวัดแล้วเรียกคู่กรณีลงไปคุย เจ็บตัวทั้งคู่ ซึ่งจริงๆ ทุกคนก็พยายามอะลุ่มอล่วยเพราะเกิดเรื่องทะเลาะกันถือว่าผิดวินัยครับ”


ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 10


สมัยยังเด็ก ราวปี ๒๕๐๔ ผมอายุประมาณ ๑๖ ปี เคยรับโทรเลขครั้งหนึ่ง เป็นข่าวการเสียชีวิตของยายซึ่งอยู่ที่ฉะเชิงเทรา ตอนนั้นโทรเลขมาเป็นกระดาษ มีบุรุษไปรษณีย์ใส่เสื้อคอตั้งแขนยาว สวมรองเท้าบูต เป็นคนมาส่ง นับแต่นั้นจึงรู้จักโทรเลขมากขึ้น ทีนี้ได้รับทีไรเป็นตกใจมือสั่น อย่างที่รู้กันว่าโทรเลขใช้สำหรับส่งข่าวสำคัญ ซึ่งก็มักจะเป็นข่าวไม่ดีเสมอ”
สุรสิทธิ์ สุหทัยกุล อดีตเจ้าหน้าที่ที่ทำการโทรเลขกลาง บอกเล่าประสบการณ์ของตนที่มีต่อโทรเลขช่วง ๑๖ ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้เราฟัง
ลุงสุรสิทธิ์เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ยังคงจำได้ถึงบรรยากาศเก่าๆ ในยุคที่โทรเลขยังมีบทบาทต่อชีวิตคนไทยอยู่มาก หรือจะเรียกว่าเป็นทางเลือกเดียวในการติดต่อบอกกล่าวข่าวสารสำคัญก็คงไม่ผิดนัก
ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 9

ในยุคนั้นสายโทรเลขยังมีความสำคัญมาก รัฐบาลต้องคอยดูแลรักษาให้ใช้งานได้ดีตลอดเวลา เห็นได้จากเอกสารโต้ตอบระหว่างพระยาเสถียรฐาปนกิตย์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงโยธาธิการ กับพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ปลัดทูลฉลองกระทรวงนครบาล ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ กรณีที่มี “ว่าวแลสายป่านไปพันสายโทรเลข” อยู่บ่อยครั้ง โดยกระทรวงโยธาธิการซึ่งดูแลกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้รับการร้องเรียนจากปลัดกรมไปรษณีย์โทรเลขว่าพลตระเวนของกระทรวงนครบาลไม่ดูแลกวดขันการเล่นว่าวของราษฎรมากเท่าที่ควร ทำให้ว่าวไปพันสายโทรเลขอยู่บ่อยๆ ต้องคอยแก้สายป่านลงมาเป็นระยะๆ เพราะเป็นอุปสรรคต่อระบบการสื่อสาร โดยในหนังสือราชการดังกล่าวนั้นได้มีการแนบ “ว่าวแลสายป่านซึ่งติดพันสายโทรเลข” ไปด้วย เพื่อยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง และขอให้กระทรวงนครบาลดำเนินการหลังจากร้องขอมาหลายครั้งแล้ว
ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ถือได้ว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในเวลานั้น โทรเลขจึงได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในหลายด้าน ไม่ว่าในด้านการแจ้งข่าวสารสำคัญ ดังเช่นโทรเลขของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ที่รายงานผลการแข่งรถของ “พระองค์เจ้าพีระ” ราชานักแข่งรถไทย กลับมาที่พระตำหนักในกรุงเทพฯ ด้วยขณะนั้นทรงทำหน้าที่ผู้จัดการคอกรถแข่ง “หนูขาว” ทีมรถแข่งทีมเดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุโรปช่วง พ.ศ. ๒๔๗๙-๒๔๘๑
ในเชิงการทูต โทรเลขก็ถูกใช้เป็นสื่อแสดงถึงสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างผู้นำประเทศ ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้จัดส่งโทรเลขถวายพระพรแด่กษัตริย์ สมเด็จพระราชินี รวมถึงผู้นำประเทศต่างๆ ตามวาระโอกาสอันเหมาะสม อาทิ วันเฉลิมพระชนมพรรษา เทศกาลปีใหม่ ฯลฯ ทั้งนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ยังปรากฏโทรเลขตามธรรมเนียมการทูตของนายปรีดี พนมยงค์ ในนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถึง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนีเวลานั้น เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ แม้ว่าขณะนั้นนายปรีดีจะทำหน้าที่หัวหน้าเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น ประเทศร่วมฝ่ายอักษะของผู้นำเยอรมนี อย่างลับๆ อยู่ด้วยก็ตาม
นอกเหนือไปกว่านั้น โทรเลขยังได้ก้าวเข้าไปมีบทบาทสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ที่เด่นชัดคือคราวที่เกิด “กบฏบวรเดช” ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ รัฐบาลคณะราษฎรได้ใช้โทรเลขในการสั่งการข้าราชการหัวเมืองต่อสู้กับฝ่ายกบฏ หลายฉบับมีรายละเอียดเป็นคำสั่งให้ระวังที่ทำการโทรเลขอย่างเข้มงวด บางฉบับเป็นรายงานสถานการณ์ ซึ่งต่อมาถูกส่งไปที่นายกรัฐมนตรีคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ทั้งหมด และปัจจุบัน สำเนาโทรเลขไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ก็ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติในฐานะเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์
ที่น่าสนใจก็คือ ความสำคัญของโทรเลขในเชิงยุทธศาสตร์นี้ยังปรากฏให้เห็นต่อเนื่องมาแม้ในยุคหลังที่ระบบการสื่อสารของไทยก้าวหน้าพัฒนาไปจากเดิมมากแล้ว


ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 8

ในช่วงเวลาอันคับขันนั้น ณ อีกซีกโลกหนึ่ง ทูตไทยที่ปารีสได้พยายามทำทุกทางเพื่อโน้มน้าวรัฐบาลฝรั่งเศสให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว จนในที่สุด ทางการฝรั่งเศสก็ได้มีโทรเลขด่วนถึงมิสเตอร์ปาวีและกัปตันเรือรบ ให้ระงับปฏิบัติการเสีย
ทว่า โทรเลขฉบับชี้เป็นชี้ตายนั้นกลับไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เนื่องจาก
“...ปาวีใช้อุบายของตนแกล้งให้เข้าใจผิด โดยไม่มอบคำสั่งด่วนจากปารีสให้ผู้บังคับการเรือรบ วิธีการของปาวีคือ นำโทรเลขฉบับสำคัญนั้นใส่รวมในถุงจดหมายฉบับอื่นๆ ของเมลปรกติที่ส่งถึงนายทหารบนเรือรบ...” (ไกรฤกษ์ นานา ใน “’ราชการลับ’ เมื่อ ร. ๕ เสด็จประพาสเยอรมนี ไม่ใช่เรื่องลับในยุโรป”, ประวัติศาสตร์นอกพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก, มติชน ๒๕๔๖)
ส่งผลให้เกิดการปะทะกันตามแผนที่ปาวีวางไว้ เรือรบฝรั่งเศสบุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงหน้าสถานทูตของตนโดยที่ปืนทุกกระบอกอยู่ในสภาพพร้อมรบ เมื่อเหตุการณ์มาถึงขั้นนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสเองก็ต้อง “ตามน้ำ” จนกลายเป็น “นโยบายเรือปืน” ที่โด่งดังที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
เป็นไปได้หรือไม่ว่า การกระทำของปาวีในครั้งนั้นส่งผลให้รัชกาลที่ ๕ ทรงระมัดระวังในการใช้เครือข่ายโทรเลขระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากขณะเสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ถึงกับทรงมีพระราชโทรเลขด่วนถึงพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม ซึ่งทำหน้าที่ราชเลขานุการคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ที่กรุงเทพฯ ใจความว่า
“ฉันมีความปรารถนาจะให้เธอแบ่งย่อโทรเลขของฉันที่มีไปถึงสมเด็จพระบรมราชินีนารถนั้น ลงพิมพ์ให้ทราบทั่วไปแก่มหาชนอันเป็นที่รักใคร่ของเราเนืองๆ จึงเป็นน่าที่ของเธอที่จะนำคำแปลโทรเลขนั้นถวายสมเด็จพระบรมราชินีนารถ จะทรงเห็นควรว่าส่วนใดเป็นการลับ ซึ่งไม่ควรจะปรากฏเปิดเผยตามแต่จะวินิจฉัยได้ทุกประการ วิธีซึ่งจะให้เป็นการสดวกต่อไปภายหน้านั้น บรรดาโทรเลขสำคัญเซนสยามินทร์นั้นประสงค์จะให้ปรากฏในหนังสือพิมพ์ราชการ แต่โทรเลขที่เซนจุฬาลงกรณ์นั้น ประสงค์ว่าเป็นเฉพาะส่วนตัวและเป็นการลับ...”
ไกรฤกษ์ นานา วิเคราะห์ไว้ว่า “เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ การสื่อสารที่ฉับไวที่สุดคือการส่งข้อความทางโทรเลข ในระหว่างนั้นการติดต่อกลับเมืองไทยต้องส่งผ่านชุมสายเพียง ๒ ประเทศเท่านั้น คือทางพม่า (เมืองมอลแมง) หรือทางเวียดนาม (เมืองไซ่ง่อน) และต้องส่งเป็นภาษาอังกฤษ อันว่าทั้งสองเมืองนี้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศสอยู่ด้วย ความลับทั้งหลายจะถูกหน่วยข่าวกรองของทั้งสองฝ่ายดักอ่านตีความทันทีอย่างไม่ต้องสงสัย...”
ทั้งนี้รัชกาลที่ ๕ ทรงแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการแฝงความลับไว้ในพระราชหัตถเลขา แล้วให้ขุนนางที่ทรงคุ้นเคยตีความเอาเอง การที่พระองค์ทรงเลือกใช้ “โทรเลข” ติดต่อราชการระหว่างประเทศแม้จะทรงระแวงว่ามีการดักอ่าน ก็ด้วยขณะนั้นโทรเลขถือเป็นการติดต่อสื่อสารเพียงชนิดเดียวที่ส่งข่าวสารได้เร็วที่สุด คือถึงมือผู้รับภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ขณะที่จดหมายต้องใช้เวลาเดินทางจากยุโรปถึงเอเชียโดยทางเรือไม่ต่ำกว่า ๒ เดือน


ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 7


ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ประวัติศาสตร์ไทยอาจบันทึกเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ไปอีกแบบ หากโทรเลขจากปารีสฉบับหนึ่งส่งถึงมือผู้รับ
เป็นที่ทราบกันดีว่า สมัยนั้นสยามกำลังเผชิญหน้ากับลัทธิล่าอาณานิคม ดินแดนรอบๆ บ้านเราเวลานั้นล้วนตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสไปแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพม่า กัมพูชา หรือเวียดนาม
ในครั้งนั้นฝรั่งเศสมีท่าทีคุกคามอย่างเห็นได้ชัด จากการที่ส่ง ออกุส ปาวี (Auguste Pavie) หรือที่คนไทยรู้จักในนาม “ม. ปาวี” มาเป็นตัวแทนในอินโดจีน ชายผู้นี้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่พยายามดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งขณะนั้นยังมีฐานะเป็นประเทศราชของสยาม ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสให้ได้
เมื่อการหาเรื่องกระทบกระทั่งด้วยกำลังทหารในเขตอินโดจีนและยั่วยุให้สยามตอบโต้ (เพื่อให้เรื่องบานปลายแล้วฝรั่งเศสจะได้มีข้ออ้างในการใช้กำลังยึดดินแดน) ไม่เป็นผล ปาวีจึงตัดสินใจขออนุญาตรัฐบาลของตนนำเรือรบบุกเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมประกาศปิดอ่าวไทยทันที
สถานการณ์สยามจึงวิกฤตถึงขีดสุด...
ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 6

เมื่อปฏิเสธมิสเตอร์รีดแล้ว สยามจึงต้องเริ่มวางระบบโทรเลขทันที โดยขอประสานกิจการกับบริษัทแห่งหนึ่งที่ดำเนินกิจการโทรเลขในสหพันธรัฐมลายา (มาเลเซีย) แต่กระนั้นก็ไม่ประสบผลสำเร็จจนต้องหยุดโครงการไปพักใหญ่ มาเริ่มต้นเอาจริงๆ ก็เมื่อเมอซิเออร์กาเนียร์ กงสุลฝรั่งเศส เข้ามาเจรจาในปีเดียวกัน ปรากฏบันทึกใน หนังสือที่ระลึก ๑๐๐ ปี การโทรคมนาคม ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยว่า
“ทางการเมืองไซ่ง่อนปรารถนาจะสร้างสายโทรเลขต่อเข้ามาในประเทศไทย การเดินสายโทรเลขในเขตของไทย รัฐบาลฝรั่งเศสรับเป็นธุระจัดสร้างให้เสร็จ เพียงแต่ขอความช่วยเหลือให้ประเทศไทยตัดเสาที่จะพาดสายให้เท่านั้น เมื่อทำการแล้วเสร็จ ก็จะยกทางสายโทรเลขให้เปล่าตั้งแต่เขตแดนเขมรเข้ามาจนถึงกรุงเทพฯ”
ส่งผลให้ “รัฐบาลอังกฤษซึ่งเป็นคู่แข่งขันกัน ยื่นหนังสือขอให้งดการที่จะรับทำกับฝรั่งเศสเสีย และว่ารัฐบาลอังกฤษที่ประเทศอินเดีย จะขอสร้างสายโทรเลขติดต่อกับไทยเข้ามาทางเมืองทวายบ้าง”
เพื่อตัดปัญหาที่เกิดขึ้น รัชกาลที่ ๕ จึงทรงตัดสินพระทัยสร้างระบบโทรเลขเองทันที โดยให้อยู่ในความดูแลของกรมกลาโหม จากนั้นได้ทำการวางสายโทรเลขสายแรก คือ สายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ และสายที่ ๒ คือ สายกรุงเทพฯ-บางปะอิน ในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ โดยในระยะแรกจะมีการใช้โทรเลขในทางราชการเท่านั้น กระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๖ จึงเปิดโทรเลขสายตะวันออก (กรุงเทพฯ-ไซ่ง่อน) เป็นบริการสาธารณะ โทรเลขสายนี้ยังถือเป็นสายแรกของไทยที่สามารถติดต่อกับต่างประเทศได้โดยตรงอีกด้วย
นับแต่นั้น โทรเลขก็กลายเป็นระบบการสื่อสารสำหรับคนทุกระดับชั้น ตั้งแต่กษัตริย์ถึงสามัญชน




ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 5


จากหลักฐานทางจดหมายเหตุและเอกสาร สยามรู้จักโทรเลขครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ เมื่อคณะทูตปรุสเซียนำ “ตะแลแกรบ” (Telegraph) สำรับหนึ่งพร้อมของบรรณาการมากมายมาถวายรัชกาลที่ ๔ เพื่อกระชับสัมพันธไมตรี
แต่ความพยายามในการวางระบบโทรเลขนั้นมาเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ โดยเจ้าพนักงานบริษัทเดินสายโทรเลขอังกฤษสองคน คือ นายวิลเลี่ยม เฮนรี่ รีด (William Henry Read) และนายวิลเลี่ยม เปเตอร์สัน (William Peterson) ได้เข้ามาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตวางสายโทรเลขจากกรุงเทพฯ ถึงปีนัง แต่การดำเนินการครั้งนั้นก็ล้มเหลวโดยไม่มีการระบุสาเหตุไว้แน่ชัด
ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๕ วิลเลี่ยม เฮนรี่ รีด จึงกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างระบบโทรเลขในสยามภายใต้เงื่อนไขเดิม แต่ครั้งนี้รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิเสธ ดังปรากฏในหนังสือ ประวัติและวิวัฒนาการการไปรษณีย์ไทย ว่า “ทรงพระราชดำริพร้อมด้วยเคาซิลว่า ไม่ควรให้มิสเตอร์รีดจัดทำ แต่ครั้นจะไม่ทรงยอมมีพระบรมราชานุญาตตรงๆ คำที่ทรงยอมไว้แต่เดิมในรัชกาลก่อน (รัชกาลที่๔) ก็จะเสียไป จึงทรงบ่ายเบี่ยงไปว่า สยามตกลงจะดำเนินกิจการโทรเลขเอง ไม่อาจอนุมัติให้มิสเตอร์รีดจัดทำได้”
ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขเดิมของรีดระบุว่า หลังจากดำเนินการสร้างสายโทรเลขเสร็จ อังกฤษจะมีสิทธิเต็มที่ในทรัพย์สินและสามารถจัดตั้งบริษัทก่อสร้างและบำรุงรักษาสายโทรเลขที่วางผ่านจังหวัดต่างๆ ได้แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบมากเกินไป
ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 4

เวลาที่ผ่านไป นอกจากระบบการรับ-ส่งข้อความจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากแล้ว ในส่วนของคนทำงานเองก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด พ้นไปจากด้านทักษะความชำนาญแล้ว ปัญหายังอยู่ที่จำนวนคนด้วย เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่ๆ เข้ามาเป็นทางเลือกของผู้คน ความนิยมในการใช้โทรเลขก็ลดน้อยถอยลงตามลำดับ เมื่อความต้องการลดลง กำลังเจ้าหน้าที่ที่พร้อมให้บริการก็ลดจำนวนลงตาม จากที่เคยมีอยู่หลายสิบคน ก็เหลือเพียง ๑ คนต่อที่ทำการไปรษณีย์ ๑ แห่ง ปราศจาก “บุรุษโทรเลข” ที่พร้อมจัดส่งโทรเลขถึงมือผู้รับในทุกชั่วโมงเช่นที่เคยเป็นมา ต้องอาศัยบุรุษไปรษณีย์ในการส่งโทรเลขผ่านระบบไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) สุดท้าย เครื่องไม้เครื่องมือในการส่ง แม้จะได้รับการพัฒนาเป็นระบบคอมพิวเตอร์ แต่ปัจจุบันก็ขาดการบำรุงรักษาจนเกิดปัญหาขัดข้องขึ้นเป็นระยะ โทรเลขวันนี้จึงเป็นการสื่อสารที่ไม่ด่วนอีกต่อไป เพราะบางทีอาจต้องใช้เวลาเกือบ ๕ วัน แทนที่จะถึงมือผู้รับได้ภายใน ๑ วันหรือเร็วกว่านั้น
ปัจจุบัน ดูจะเหลือเพียงที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่เครื่องไม้เครื่องมือยังคงพร้อม และเจ้าหน้าที่ยังคงมีประสิทธิภาพแม้ว่าแต่ละคนจะอยู่ในวัยใกล้เกษียณเต็มที อาจเพราะที่ทำการฯ แห่งนี้เป็นที่รวมของ “เจ้าหน้าที่โทรเลข” ตัวจริง ซึ่งทำงานมาตั้งแต่ยุคที่โทรเลขยังอาศัยรหัสมอร์สส่งข้อความ
“เมื่อไม่นานมานี้ มีคนญี่ปุ่นคนหนึ่งขับรถมาจากพัทยา เขาจะส่งโทรเลขกลับบ้าน ต้องมาส่งที่กรุงเทพฯ เพราะที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งที่เขาไปบอกว่าไม่มีบริการ ปัญหามันมากจริงๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ส่งโทรเลขในที่ทำการไปรษณีย์แห่งนั้นอาจจะเสียแล้วไม่มีการซ่อม ก็น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่นั่นนะครับ” เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งเอ่ยอย่างปลงๆ
และอาจด้วยเหตุนี้ บริการโทรเลขที่ซบเซาอยู่แล้วจึงมีสถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก จนแทบไม่เหลือเค้าว่า ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นระบบการสื่อสารที่รวดเร็วและทันสมัยที่สุดของสยาม



ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 3

นับย้อนไปในอดีตกระทั่งถึงราว ๒๐ ปีก่อนหน้านี้ ทางเลือกในการสื่อสารของผู้คนยุคก่อนยังมีไม่มากนัก คนต่างจังหวัดที่มาทำงานในเมืองมักจะส่งข่าวกลับบ้านด้วยการเขียนจดหมาย และถ้าเป็นข่าวด่วน ก็จะส่งโทรเลข บริการโทรศัพท์ยังไม่ครอบคลุมและค่าใช้บริการสูง แต่ปัจจุบันพวกเขามีทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ ที่มีเครือข่ายครอบคลุมแทบทุกจุดของประเทศ รวมไปถึงการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สามารถตอบสนองการติดต่อสื่อสาร “ด่วน” ที่โทรเลขเคยมีบทบาทสำคัญได้อย่างสมบูรณ์แบบ
จึงอาจไม่แปลกอะไรที่ทุกวันนี้โทรเลขจะถูกลดความสำคัญลงเหลือแค่เอาไว้ใช้ทวงหนี้เท่านั้น
“ที่เขายังใช้กันอยู่ เพราะมันนำไปเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้” เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งกล่าว ก่อนจะบอกเล่าเพิ่มเติมว่า ลูกค้าหลักที่ใช้โทรเลขเหนียวแน่นมาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือธนาคารและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือบางบริษัท ซึ่งเอกชนเหล่านี้จะเช่าสายวงจรที่ติดต่อโดยตรงกับที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้ ทำการฝากข้อความผ่านเครื่องมือสื่อสารประเภทต่างๆ อาทิ เครื่องโทรสารหรือเทเลกซ์ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะนำข้อความเหล่านั้นเข้าสู่ระบบการส่งโทรเลข และจัดส่งให้ถึงที่หมายต่อไป
“แต่ละเดือนที่นี่มียอดโทรเลขเข้า-ออกเฉลี่ยเป็นหมื่นฉบับเพราะวงจรพวกนี้” ชัชวาล ทองอบสุข หัวหน้างานรับฝากและนำส่งโทรเลข ที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนย่อยของที่ทำการไปรษณีย์กลาง กล่าวพลางหยิบสถิติการรับ-ส่งโทรเลขเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘ ซึ่งอยู่ที่ ๑๐,๕๖๗ ฉบับออกมาให้ดู
“นอกจากทวงหนี้ ที่เหลือเป็นพวกคำอวยพรจากข้าราชการถึงผู้บังคับบัญชาในโอกาสเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง และอวยพรเนื่องในโอกาสเทศกาลสำคัญซึ่งทุกวันนี้ก็เหลือแบบนี้น้อยเต็มทีแล้ว”
เจ้าหน้าที่อีกคนเสริมว่า “ก่อนหน้านี้สักสิบกว่าปีก่อน จะมีโทรเลขอีกแบบหนึ่งที่ทำรายได้ให้เรามาก เป็นโทรเลขจากจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เยอะ ช่วงนั้นคนงานนิยมใช้โทรเลขธนาณัติส่งเงินกลับบ้าน เจ้าหน้าที่จะรู้กันเลยว่า วันกลางเดือนกับปลายเดือนจะมีโทรเลขเข้ามาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าวันละ ๑,๐๐๐ ฉบับ เรียกได้ว่ารายได้จากโทรเลขเหล่านี้เลี้ยงคนได้ทั้งกรมทีเดียว แต่วันนี้มันก็ไม่เหมือนก่อนแล้ว”
ทุกวันนี้จะมีคนไทยสักกี่คนที่ยังคงใช้บริการโทรเลข ไม่ต้องนับรวมถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่อาจไม่รู้จักหรือนึกหน้าค่าตาของมันไม่ออก แม้ว่าในความเป็นจริง ไปรษณีย์ไทยยังคงมีบริการด้านนี้อยู่เช่นที่เคยเป็นมานับแต่ยุคแรกที่มีการเปิดบริการโทรเลขเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีก่อน
ไม่เพียงกลายเป็นเรื่องไกลตัวของคนรุ่นใหม่ แม้ในบรรดาเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เอง บริการชนิดนี้ก็ดูจะห่างไกลจากความคุ้นชิน หากผู้อ่านไปที่ที่ทำการไปรษณีย์สักแห่งแล้วแจ้งว่าต้องการส่งโทรเลข หากโชคดีว่าที่ทำการฯ นั้นยังมีบริการนี้อยู่ (เครื่องไม่เสีย-ขัดข้อง จนใช้งานไม่ได้) ก็อาจต้องให้เวลาพวกเขาสักครู่ใหญ่เพื่อทบทวนขั้นตอนการทำงาน หลังจากนั้นก็ต้องทำใจรอสัก ๒-๓ วันกว่าโทรเลขจะเดินทางถึงมือผู้รับ



ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 2

ยุควิทยุโทรเลข (พ.ศ. 2447-2469)
ประเทศไทยเริ่มรับเทคโนโลยี “โทรเลข” เข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
พ.ศ. 2447 บริษัทเทเลฟุงเก็น ขออนุญาตทดลองจัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขชั่วคราว ที่บริเวณภูเขาทอง และเกาะสีชัง แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ในปีพ.ศ.2450 จอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต นำเครื่องรับส่งวิทยุโทรเลขแบบมาร์โคนีของอังกฤษมาใช้กรมทหารเรือ
พ.ศ. 2456 ร.6 ให้กระทรวงทหารเรือจัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขถาวร ที่ศาลาแดง กรุงเทพฯ และที่ จ.สงขลา
ปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบัญญัติศัพท์คำว่า วิทยุ เพื่อใช้แทนคำว่า ราดิโอ ซึ่งใช้ทับศัพท์กันมาตลอด พร้อมทั้งประกาศใช้ พระราชบัญญัติวิทยุโทรเลขเป็นกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับกิจการวิทยุกระจายเสียง โดยมีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นผู้กำกับดูแลการนำเข้าเครื่องส่งและการใช้วิทยุโทรเลขในประเทศไทย
พ.ศ.2469 กรม ไปรษณีย์โทรเลข เข้ามาโอนกิจการสถานีวิทยุโทรเลขที่ศาลาแดงและสงขลามาจากกองทัพเรือ รวมไปถึงการโอนพนักงานวิทยุของทหารเรือเข้ามาเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดกรม ไปรษณีย์โทรเลขด้วย และยังมีการขยายงานวิทยุโทรเลขออกไปยังจังหวัดต่างๆ รวม50 สถานี แต่ในขณะนั้นวิทยุโทรเลขยังไม่เป็นที่นิยมของประชาชนมากนักเพราะประชาชนยัง ไม่เชื่อว่าการติดต่อทางวิทยุโทรเลขนั้นจะเป็นไปได้จริง


ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

โทรเลขไทยสู่ยุค3G


รู้จักความเป็นการของการพัฒนาเทคโนโลยีรับส่งวิทยุในต่างประเทศกันไปแล้ว คราวนี้มาดูกันว่า ในประเทศไทย รับเอาเทคโนโลยีวิทยุมาเมื่อไร อย่างไร และนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร
ในการจะทำความเข้าใจวิวัฒนาการของกิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยนั้น ควรเข้าใจถึง “บทบาท” ของวิทยุ และการใช้กิจการวิทยุในเรื่องที่แตกต่างกันในแต่ละยุค ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ยุค ดังนี้
ยุควิทยุโทรเลข






(พ.ศ. 2525-ปัจจุบัน)
นักศึกษาสามารถอ่านเรียงไปที่ละยุค หรือ จะเลือกยุคที่ต้องการอ่านด้านบนนี้ก็ได้คะ
ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

พระอัจฉริยถาพ

การถ่ายภาพ เป็นศิลปะอีกสาขาหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระหฤทัยอย่างจริงจังมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงศึกษาและฝึกฝนการถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง จนทรงเป็นนักถ่ายรูปที่มีพระปรีชาสามารถยิ่ง กล้องถ่ายภาพที่ทรงใช้ในระยะเริ่มแรกเป็นกล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัวจึงต้องใช้พระราชวิจารณญาณอย่างรอบคอบละเอียดถี่ถ้วน พร้อมทั้งพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ จึงทรงถ่ายภาพได้อย่างเชี่ยวชาญ แม้ในปัจจุบันกล้องถ่ายภาพจะมีวิวัฒนาการขึ้นกว่าสมัยก่อน ก็มิทรงใช้ แต่ยังทรงใช้แต่กล้องคู่พระหัตถ์แบบมาตรฐานอย่างที่นักเลงกล้องทั้งหลายใช้กัน
พระองค์ทรงเชี่ยวชาญแม้กระทั่งการล้างฟิล์ม การอัดและขยายภาพทั้งภาพขาวดำและภาพสี นอกจากนี้ทรงคิดค้นหาเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ในการถ่ายภาพอยู่เสมอๆ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์จึงเป็นผลงานศิลปะที่ล้ำยุค
เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติใหม่ๆ โปรดที่จะถ่ายภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดา โดยเฉพาะเมื่อได้ทรงเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักภูพิงราชนิเวศน์ ซึ่งมีภูมิประเทศที่สวยงามเหมาะแก่การถ่ายภาพ แต่ในปัจจุบันนี้ พระองค์ทรงมีพระราชภารกิจอันมากมายมหาศาล เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร ไม่มีเวลาสำหรับการถ่ายภาพมากนัก จะทรงถ่ายภาพก็ได้แต่เฉพาะในคราวที่เสด็จฯ ไปราชการตามสถานที่ต่างๆ เท่านั้น
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เหล่านี้ ทรงใช้เพื่อประกอบการทรงงานของพระองค์ ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ จังหวัดใด ก็จะทรงมีกล้องถ่ายรูปติดพระองค์ไปด้วยเสมอ โปรดถ่ายภาพสถานที่ทุกแห่ง เพื่อทรงเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบงานที่ได้ทรงปฏิบัติ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เหล่านี้ จึงมักเป็นภาพถ่ายซึ่งถ่ายได้ครั้งเดียวด้วยไหวพริบ ไม่มีเวลาจ้องหาแง่มุม แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ เราจึงได้เห็นภาพฝีพระหัตถ์อันคมชัด และศิลปะในการจัดองค์ประกอบของภาพที่ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เหล่านี้ยังสามารถใช้เป็นหลักฐานในการวางแผนปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันใจและสามารถแก้ไขเหตุการณ์ของบ้านเมืองได้ทันท่วงที
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ทั้งหลาย ล้วนแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงถ่ายภาพเพื่อศิลปะแต่เพียงอย่างเดียว เพราะแต่ละภาพทรงไว้ซึ่งคุณค่าทางศิลปะและวิชาการ สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง และนำความผาสุกร่มเย็นมาสู่ประชาชนชาวไทยได้อย่างดีอีกด้วย



ที่มา:http://202.183.216.170/computer/m2fri49/g17m2fri/kingandcamera.htm

เทคนิคการถ่ายภาพ10

♫ CREATIVE
สุดท้ายอยากให้ผู้สนใจ ลองหามุมมองแปลกๆ สวยงาม น่าสนใจ มีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะจะช่วยทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น หลายครั้งที่เห็นนักถ่ายภาพไปถ่ายภาพในสถานที่ต่างๆ แล้วได้ภาพออกมาเหมือนกันหมด หรือเป็นภาพมุมที่ส.ค.ส. หรือปฏิทิน ตีพิมพ์ออกมาให้เห็นจนชินตา



ที่มา:http://202.183.216.170/computer/m2fri49/g17m2fri/kind.htm

เทคนิคการถ่ายภาพ9

♫ LOW KEY
ภาพที่มีโทนสีดำมาก และมีสีตัดกันสูง ภาพจะดูลึกลับ สะดุดตา น่าสนใจ อาจใช้แสงจากธรรมชาติโดยแสงเข้าในทิศทางเดียว หรือกระทบวัตถุที่จะถ่ายเพียงด้านเดียว โดยวัดแสงที่จุดกระทบของแสง คือ วัดแสงใกล้ๆ กับวัตถุ แล้วถอยกล้องออกมาถ่าย โดยไม่ต้องปรับรูรับแสงหรือความเร็วชัตเตอร์อีก


ที่มา:http://202.183.216.170/computer/m2fri49/g17m2fri/kind.htm

เทคนิคการถ่ายภาพ8

♫ NIGHT PICTURE
หรือการถ่ายภาพไฟกลางคืนที่สวยงาม จะได้ภาพที่แปลกตา
วิธีการถ่ายภาพ
1.ติดตั้งกล้องกับขาตั้งกล้องให้มั่นคง พร้อมติดตั้งสายลั่นชัตเตอร์ให้พร้อม
2.ส่องกล้องหาทิศทางในการถ่ายภาพ ให้ได้มุมที่เหมาะที่สุด
3.คาดคะเนสภาพแสง เพื่อกำหนดเวลาและรูรับแสง (ถ้าเป็นไฟตามถนนปกติ จะใช้ประมาณ 5.6 หรือ 8)
4.ตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่ B ลั่นชัตเตอร์ค้างไว้ให้รถวิ่งผ่านจนเป็นที่พอใจ ประมาณ 10-60 วินาที หรือถ้าทิ้งช่วงเวลานาน จะใช้ผ้าดำคลุมหน้าเลนส์ไว้ก่อนก็ได้
การถ่ายภาพไฟกลางคืน ควรถ่ายเผื่อหลายๆ ภาพ ใช้เวลาในการบันทึกภาพและขนาดรูรับแสงต่างๆ กัน และจดบันทึกไว้จะดีที่สุด และควรฝึกหัดเป็นประจำเพราะต้องอาศัยความชำนาญสูงในการถ่ายภาพประเภท



ที่มา:http://202.183.216.170/computer/m2fri49/g17m2fri/kind.htm

เทคนิคการถ่ายภาพ7

♫ SILHOUETTE
เป็นเทคนิคการถ่ายภาพย้อนแสง โดยจะไม่เห็นรายละเอียดของวัตถุ ควรถ่ายในช่วงเช้า หรือช่วงเย็นที่แสงแดดเริ่มอ่อน อย่าวัดแสงกับดวงอาทิตย์ตรงๆ ควรวัดแสงที่ท้องฟ้า เฉียง 45 องศากับดวงอาทิตย์ และลดรูรับแสงให้แคบลง 2-4 Stop หรือถ้าเป็นเวลาเย็นมาก สามารถมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าได้ ก็วัดแสงที่ดวงอาทิตย์ได้เลย
การถ่ายภาพประเภทนี้ต้องระวังเรื่องฉากหน้าและฉากหลังด้วย เพราะจะทำให้รบกวนภาพทำให้ภาพดูรกตา


ที่มา:http://202.183.216.170/computer/m2fri49/g17m2fri/kind.htm

เทคนิคการถ่ายภาพ6

♫ CLOSE UP
เป็นการถ่ายภาพระยะใกล้เพื่อเน้นรายละเอียด หรือการถ่ายภาพวัตถุขนาดเล็ก สามารถถ่ายโดยใช้ฟิลเตอร์ Close up ซึ่งมีลักษณะเป็นเลนส์ขยาย จำหน่ายเป็นชุด ชุดละ 3 อัน สามารถต่อกันได้ แต่ต้องระวังในการถ่ายเพราะภาพจะชัดเฉพาะตรงกลางภาพ ส่วนด้านขอบของภาพจะไม่ชัดเพราะความโค้งของเลนส์ ยิ่งใช้ฟิลเตอร์หลายตัวยิ่งลดความคมชัดของภาพลง
ถ้าต้องการคุณภาพดี ควรใช้เลนส์มาโคร หรือเลนส์ถ่ายใกล้ จะให้รายละเอียดของภาพมากยิ่งขึ้น
การถ่ายภาพต้องระวังอย่าให้สั่นไหวเด็ดขาด ควรใช้ขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์เข้าช่วย หรือพยายามใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูง จะช่วยได้มาก


ที่มา:http://202.183.216.170/computer/m2fri49/g17m2fri/kind.htm

เทคนิคการถ่ายภาพ5


♫ PANNING
เป็นการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ ถ่ายภาพเคลื่อนไหวเหมือนกับภาพ acti-on แต่จะใช้เทคนิคการแพนหรือการส่ายกล้องตามวัตถุที่เคลื่อนที่ และกดชัต-เตอร์ขณะที่ส่ายกล้อง ทำให้วัตถุที่ต้องการเน้นนิ่งเห็นรายละเอียดมากยิ่งขึ้น แต่ฉากหน้าและฉากหลังที่นิ่งอยู่กับที่ลู่ตามวัตถุ เป็นที่นิยมมากในการถ่ายภาพกีฬาประเภทต่างๆ
ที่มา:http://202.183.216.170/computer/m2fri49/g17m2fri/kind.htm

เทคนิคการถ่ายภาพ4

♫ ACTION
เป็นการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ ถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวเพื่อให้เห็นถึงการเคลื่อนไหว เพราะความเร็วชัตเตอร์ที่ช้า จึงทำให้วัตถุที่ต้องการเน้นไม่ชัดเจน พร่ามัว จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้ามากเพียงใดขึ้นอยู่กับความเร็วจองวัตถุที่เคลื่อนที่ผ่านเลนส์ ผู้ถ่ายภาพต้องสามารถประมาณความเร็วได้ ยิ่งช้ามากเท่าใด ภาพยิ่งพร่ามัวมากเท่านั้น แต่อย่ามากเกินไปเพราะจะทำให้มองไม่เห็นวัตถุที่ถ่ายให้ชัดเจน


ที่มา:http://202.183.216.170/computer/m2fri49/g17m2fri/kind.htm

เทคนิคการถ่ายภาพ3


♫ STOP ACTION
เป็นเทคนิคการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูง เพื่อให้ภาพที่เคลื่อนไหวดูหยุดนิ่ง โดยใช้ตั้งแต่ 1/250 วินาทีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความเร็วในการเคลื่อนที่ผ่านหน้าเลนส์ของวัตถุ
การถ่ายภาพลักษณะนี้ต้องวางแผนให้ดี ปรับโฟกัสและวัดแสงไว้ล่วงหน้า อาศัยการกะระยะและการตัดสินใจที่ฉับไวในการถ่ายภาพ แต่ต้องอย่าลืมเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อให้ภาพมีความงามและมีคุณค่า
ที่มา:http://202.183.216.170/computer/m2fri49/g17m2fri/kind.htm

เทคนิคการถ่ายภาพ2


♫ LAND SCAPE
หรือการถ่ายภาพภูมิทัศน์ นิยมถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง เพื่อให้เห็นพื้นที่ในบริเวณกว้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการ โดยปกใช้เลนส์มาตรฐานก็ได้เช่นกัน การถ่ายภาพลักษณะนี้ควรใช้รูรับแสงที่แคบเพื่อให้เกิดระยะชัดมากที่สุด ควรคำถึงถึงฉากหน้า ฉากหลังของภาพ และการวางจุดสนใจ หรืออาจใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น ฟิลเตอร์โพราไรซ์ เพื่อให้สีของภาพอิ่มตัวขึ้น ท้องฟ้าเข้มขึ้นทำให้ภาพน่าสนใจ

ที่มา:http://202.183.216.170/computer/m2fri49/g17m2fri/kind.htm

เทคนิคการถ่ายภาพ


♫ DEPTH OF FIELD
การถ่ายภาพลักษณะนี้เพื่อเน้นระยะชัด ผู้ถ่ายภาพต้องเข้าใจการกำหนดค่าของรูรับแสงของเลนส์ เพื่อให้ได้ภาพตามต้องการ
ค่าของรูรับแสง มีตั้งแต่กว้างสุดคือ 1.2 4 5.6 8 11 16 22 ค่าตัวเลขยิ่งน้อยรูรับแสงยิ่งกว้าง ระยะชัดของภาพจะสั้นลง หรือที่เรียกว่า "ชัดตื้น" ในขณะเดียวกัน ค่าของตัวเลขยิ่งมาก รูรับแสงจะแคบลง ยิ่งแคบมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้ภาพเกิดระยะชัดมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
แต่ข้อควรระวัง คือ ยิ่งเปิดรูรับแสงแคบลงเท่าใจ จะได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง อาจทำให้กล้องสั่นไหวได้ง่าย ควรใช้ขาตั้งกล้องช่วยเพื่อให้กล้องนิ่งยิ่งขึ้น



ที่มา:http://202.183.216.170/computer/m2fri49/g17m2fri/technic.htm