วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 3

นับย้อนไปในอดีตกระทั่งถึงราว ๒๐ ปีก่อนหน้านี้ ทางเลือกในการสื่อสารของผู้คนยุคก่อนยังมีไม่มากนัก คนต่างจังหวัดที่มาทำงานในเมืองมักจะส่งข่าวกลับบ้านด้วยการเขียนจดหมาย และถ้าเป็นข่าวด่วน ก็จะส่งโทรเลข บริการโทรศัพท์ยังไม่ครอบคลุมและค่าใช้บริการสูง แต่ปัจจุบันพวกเขามีทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ ที่มีเครือข่ายครอบคลุมแทบทุกจุดของประเทศ รวมไปถึงการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สามารถตอบสนองการติดต่อสื่อสาร “ด่วน” ที่โทรเลขเคยมีบทบาทสำคัญได้อย่างสมบูรณ์แบบ
จึงอาจไม่แปลกอะไรที่ทุกวันนี้โทรเลขจะถูกลดความสำคัญลงเหลือแค่เอาไว้ใช้ทวงหนี้เท่านั้น
“ที่เขายังใช้กันอยู่ เพราะมันนำไปเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้” เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งกล่าว ก่อนจะบอกเล่าเพิ่มเติมว่า ลูกค้าหลักที่ใช้โทรเลขเหนียวแน่นมาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือธนาคารและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือบางบริษัท ซึ่งเอกชนเหล่านี้จะเช่าสายวงจรที่ติดต่อโดยตรงกับที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้ ทำการฝากข้อความผ่านเครื่องมือสื่อสารประเภทต่างๆ อาทิ เครื่องโทรสารหรือเทเลกซ์ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะนำข้อความเหล่านั้นเข้าสู่ระบบการส่งโทรเลข และจัดส่งให้ถึงที่หมายต่อไป
“แต่ละเดือนที่นี่มียอดโทรเลขเข้า-ออกเฉลี่ยเป็นหมื่นฉบับเพราะวงจรพวกนี้” ชัชวาล ทองอบสุข หัวหน้างานรับฝากและนำส่งโทรเลข ที่ทำการรับ-ส่งโทรเลขนครหลวงใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนย่อยของที่ทำการไปรษณีย์กลาง กล่าวพลางหยิบสถิติการรับ-ส่งโทรเลขเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘ ซึ่งอยู่ที่ ๑๐,๕๖๗ ฉบับออกมาให้ดู
“นอกจากทวงหนี้ ที่เหลือเป็นพวกคำอวยพรจากข้าราชการถึงผู้บังคับบัญชาในโอกาสเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง และอวยพรเนื่องในโอกาสเทศกาลสำคัญซึ่งทุกวันนี้ก็เหลือแบบนี้น้อยเต็มทีแล้ว”
เจ้าหน้าที่อีกคนเสริมว่า “ก่อนหน้านี้สักสิบกว่าปีก่อน จะมีโทรเลขอีกแบบหนึ่งที่ทำรายได้ให้เรามาก เป็นโทรเลขจากจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เยอะ ช่วงนั้นคนงานนิยมใช้โทรเลขธนาณัติส่งเงินกลับบ้าน เจ้าหน้าที่จะรู้กันเลยว่า วันกลางเดือนกับปลายเดือนจะมีโทรเลขเข้ามาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าวันละ ๑,๐๐๐ ฉบับ เรียกได้ว่ารายได้จากโทรเลขเหล่านี้เลี้ยงคนได้ทั้งกรมทีเดียว แต่วันนี้มันก็ไม่เหมือนก่อนแล้ว”
ทุกวันนี้จะมีคนไทยสักกี่คนที่ยังคงใช้บริการโทรเลข ไม่ต้องนับรวมถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่อาจไม่รู้จักหรือนึกหน้าค่าตาของมันไม่ออก แม้ว่าในความเป็นจริง ไปรษณีย์ไทยยังคงมีบริการด้านนี้อยู่เช่นที่เคยเป็นมานับแต่ยุคแรกที่มีการเปิดบริการโทรเลขเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีก่อน
ไม่เพียงกลายเป็นเรื่องไกลตัวของคนรุ่นใหม่ แม้ในบรรดาเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เอง บริการชนิดนี้ก็ดูจะห่างไกลจากความคุ้นชิน หากผู้อ่านไปที่ที่ทำการไปรษณีย์สักแห่งแล้วแจ้งว่าต้องการส่งโทรเลข หากโชคดีว่าที่ทำการฯ นั้นยังมีบริการนี้อยู่ (เครื่องไม่เสีย-ขัดข้อง จนใช้งานไม่ได้) ก็อาจต้องให้เวลาพวกเขาสักครู่ใหญ่เพื่อทบทวนขั้นตอนการทำงาน หลังจากนั้นก็ต้องทำใจรอสัก ๒-๓ วันกว่าโทรเลขจะเดินทางถึงมือผู้รับ



ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น