วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 8

ในช่วงเวลาอันคับขันนั้น ณ อีกซีกโลกหนึ่ง ทูตไทยที่ปารีสได้พยายามทำทุกทางเพื่อโน้มน้าวรัฐบาลฝรั่งเศสให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว จนในที่สุด ทางการฝรั่งเศสก็ได้มีโทรเลขด่วนถึงมิสเตอร์ปาวีและกัปตันเรือรบ ให้ระงับปฏิบัติการเสีย
ทว่า โทรเลขฉบับชี้เป็นชี้ตายนั้นกลับไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เนื่องจาก
“...ปาวีใช้อุบายของตนแกล้งให้เข้าใจผิด โดยไม่มอบคำสั่งด่วนจากปารีสให้ผู้บังคับการเรือรบ วิธีการของปาวีคือ นำโทรเลขฉบับสำคัญนั้นใส่รวมในถุงจดหมายฉบับอื่นๆ ของเมลปรกติที่ส่งถึงนายทหารบนเรือรบ...” (ไกรฤกษ์ นานา ใน “’ราชการลับ’ เมื่อ ร. ๕ เสด็จประพาสเยอรมนี ไม่ใช่เรื่องลับในยุโรป”, ประวัติศาสตร์นอกพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก, มติชน ๒๕๔๖)
ส่งผลให้เกิดการปะทะกันตามแผนที่ปาวีวางไว้ เรือรบฝรั่งเศสบุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงหน้าสถานทูตของตนโดยที่ปืนทุกกระบอกอยู่ในสภาพพร้อมรบ เมื่อเหตุการณ์มาถึงขั้นนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสเองก็ต้อง “ตามน้ำ” จนกลายเป็น “นโยบายเรือปืน” ที่โด่งดังที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
เป็นไปได้หรือไม่ว่า การกระทำของปาวีในครั้งนั้นส่งผลให้รัชกาลที่ ๕ ทรงระมัดระวังในการใช้เครือข่ายโทรเลขระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากขณะเสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ถึงกับทรงมีพระราชโทรเลขด่วนถึงพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม ซึ่งทำหน้าที่ราชเลขานุการคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ที่กรุงเทพฯ ใจความว่า
“ฉันมีความปรารถนาจะให้เธอแบ่งย่อโทรเลขของฉันที่มีไปถึงสมเด็จพระบรมราชินีนารถนั้น ลงพิมพ์ให้ทราบทั่วไปแก่มหาชนอันเป็นที่รักใคร่ของเราเนืองๆ จึงเป็นน่าที่ของเธอที่จะนำคำแปลโทรเลขนั้นถวายสมเด็จพระบรมราชินีนารถ จะทรงเห็นควรว่าส่วนใดเป็นการลับ ซึ่งไม่ควรจะปรากฏเปิดเผยตามแต่จะวินิจฉัยได้ทุกประการ วิธีซึ่งจะให้เป็นการสดวกต่อไปภายหน้านั้น บรรดาโทรเลขสำคัญเซนสยามินทร์นั้นประสงค์จะให้ปรากฏในหนังสือพิมพ์ราชการ แต่โทรเลขที่เซนจุฬาลงกรณ์นั้น ประสงค์ว่าเป็นเฉพาะส่วนตัวและเป็นการลับ...”
ไกรฤกษ์ นานา วิเคราะห์ไว้ว่า “เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ การสื่อสารที่ฉับไวที่สุดคือการส่งข้อความทางโทรเลข ในระหว่างนั้นการติดต่อกลับเมืองไทยต้องส่งผ่านชุมสายเพียง ๒ ประเทศเท่านั้น คือทางพม่า (เมืองมอลแมง) หรือทางเวียดนาม (เมืองไซ่ง่อน) และต้องส่งเป็นภาษาอังกฤษ อันว่าทั้งสองเมืองนี้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศสอยู่ด้วย ความลับทั้งหลายจะถูกหน่วยข่าวกรองของทั้งสองฝ่ายดักอ่านตีความทันทีอย่างไม่ต้องสงสัย...”
ทั้งนี้รัชกาลที่ ๕ ทรงแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการแฝงความลับไว้ในพระราชหัตถเลขา แล้วให้ขุนนางที่ทรงคุ้นเคยตีความเอาเอง การที่พระองค์ทรงเลือกใช้ “โทรเลข” ติดต่อราชการระหว่างประเทศแม้จะทรงระแวงว่ามีการดักอ่าน ก็ด้วยขณะนั้นโทรเลขถือเป็นการติดต่อสื่อสารเพียงชนิดเดียวที่ส่งข่าวสารได้เร็วที่สุด คือถึงมือผู้รับภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ขณะที่จดหมายต้องใช้เวลาเดินทางจากยุโรปถึงเอเชียโดยทางเรือไม่ต่ำกว่า ๒ เดือน


ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น