วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ชนิดของกล้องถ่ายรูป 3

♫ 3. กล้องรีเฟล็กซ์ (Reflex Camera)
กล้องชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
3.1 แบบเลนส์คู่ (Twin Lens Reflex) บางครั้งอาจเรียกว่ากล้อง TLR ซึ่งเคยได้รับความนิยมมากในสมัยก่อน กล้องชนิดนี้มีเลนส์ 2 ตัว เลนส์ตัวบนทำหน้าที่สะท้อนภาพเข้าสู่ช่องมองภาพซึ่งมีกระจกเป็นตัวสะท้อน ทำให้ผู้ถ่ายรูมองเห็นวัตถุที่จะถ่ายได้ ส่วนเลนส์ตัวล่างทำหน้าที่รับแสง เพื่อส่องผ่านไปยังฟิล์ม กล้องรีเฟล็กซ์เลนส์คู่นี้ได้รวมเอาข้อดีของกล้องใหญ่ (View Camera) และกล้องเรนจ์ไฟเดอร์ (Range finder) เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะสามารถมองภาพจากข้างบนกล้องได้ โดยลดกล้องให้ต่ำลง แล้วมองภาพจากช่องมองได้สะดวกสบาย อย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ก็มีข้อเสีย เนื่องจากใช้เลนส์ 2 ตัว ตั้งอยู่ในแนวดิ่งซึ่งกันและกัน ดังนั้นภาพที่มองเห็นจากเลนส์ตัวบน อาจจะไม่เหมือนกันกับภาพที่ถ่าย ซึ่งเรียกว่าเกิดอาการผิดเพี้ยนจากการตัดส่วนของภาพ (Parallax) ยิ่งเป็นการถ่ายรูปใกล้ๆ บางส่วนของภาพจะถูกตัดออกไป แม้ว่าเวลามองที่ช่องมองภาพนั้นเป็นภาพสมบูรณ์ก็ตาม อีกประการหนึ่งภาพที่เห็นที่ช่องมองภาพจะกลับซ้ายเป็นขวาเสมอ นอกจากนี้ กล้องชนิดนี้ส่วนมากจะเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ จึงเป็นข้อเสียเปรียบเช่นกัน ฟิล์มที่ใช้อาจมีขนาด 120, 220 หรือ 35 มม. ก็ได้

3.2 แบบเลนส์เดี่ยว (Single Len Reflex) หรือเรียกว่า SLR ซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะสะดวกและง่ายต่อการประกอบภาพ นอกจากนั้น ยังมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ร่วมกันได้มากมาย กล้องชนิดนี้สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ และไม่มีอาการผิดเพี้ยนจากการตัดส่วนภาพ (Parallax) เลย เพราะใช้เลนส์ตัวเดียวทำหน้าที่ทั้งมองภาพ หาระยะชัด และบันทึกภาพ อย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ก็มีข้อเสียเปรียบ คือ อาจจะชำรุดได้ง่ายเพราะการกระดกขึ้นลง ของกระจก 45 องศา อีกประการหนึ่ง เมื่อกดชัตเตอร์จะมีเสียงดังมาก อาจทำให้เกิดการรบกวนได้ โดยเฉพาะถ้านำไปถ่ายรูปสัตว์ อาจทำให้สัตรว์ตื่นตระหนกตกใจได้ นอกจากนั้นเมื่อถ่ายรูปในที่ๆ มีแสงน้อย อาจทำให้การมองภาพที่ช่องมองไม่ชัดเจน เพราะมีการสะท้อนหลายครั้งที่กระจกและปริซึมภายในตัวกล้อง ทำให้ความเข้มของแสงลดลงไปได้ กล้องรีเฟลกซ์เลนส์เดี่ยวส่วนมากใช้ระบบชัตเตอร์ม่านจึงทำให้ใช้ความเร็วของชัตเตอร์ได้สูงมาก การเปลี่ยนขนาดของรูรับแสงก็มีมาก ฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้มีเบอร์ 135, 126, 120, 220 และ 110 ซึ่งสนองความต้องการของผู้ใช้ได้มาก

ที่มา:http://202.183.216.170/computer/m2fri49/g17m2fri/kind.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น