วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 16

โดยเฉพาะเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงินออกสู่ตลาด ผู้รู้ในธุรกิจการสื่อสารอย่าง ไพโรจน์ ไววานิชกิจ บอกว่า นี่คือปีที่เทคโนโลยีการสื่อสารรุ่นเก่าอย่างโทรเลข หรือแม้แต่เพจเจอร์ (Pager) ได้รับผลกระทบมหาศาล

“โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน ทำให้คนทุกกลุ่มครอบครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยและไม่ต้องการผูกพันเรื่องค่าใช้จ่ายรายเดือน เพราะสามารถคุมค่าใช้จ่ายในการโทรได้ ถ้าถามว่ามันได้รับความนิยมขนาดไหน บอกได้ว่าถ้าวันนี้ทั้งประเทศไทยมีโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ ๑๐๐ เครื่อง จะมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเติมเงินอยู่ราว ๘๐ เครื่อง โทรศัพท์เคลื่อนที่มีคุณสมบัติส่งข้อความสั้นๆ ได้ไม่ต่างจากโทรเลขหรือเพจเจอร์ แต่ที่สำคัญคือสามารถใช้โทรคุยได้ การหาซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่สักเครื่องย่อมดีกว่าเสียเงินค่าส่งโทรเลขบ่อยๆ หรือจ่ายเงินเพื่อครอบครองเครื่องมือสื่อสารทางเดียวในราคาไม่ต่างกันอย่าง เพจเจอร์”

สถิติที่น่าตกใจอีกอย่างก็คือ จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้แซงหน้าโทรศัพท์บ้านเป็นครั้งแรก โดยในปีนั้นเรามีโทรศัพท์บ้านราว ๘ ล้านเลขหมาย ขณะที่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ราว ๑๗ ล้านเลขหมาย ซึ่งถ้าเทียบกับเพียง ๑ ปีก่อนหน้า (พ.ศ. ๒๕๔๔) เรามีโทรศัพท์บ้าน ๗.๗ ล้านเลขหมาย ขณะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่มีอยู่ ๗.๓ ล้านเลขหมายเท่านั้น ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และถึงวันนี้ จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ได้พุ่งขึ้นถึง ๓๐ ล้านเลขหมาย (จากประชากรทั้งประเทศ ๖๒ ล้านคน) ไปเรียบร้อยแล้ว

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personeal Computer - PC) รวมถึงอินเทอร์เน็ตซึ่งเริ่มแพร่หลายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นมา ก็ทำให้เกิดการสื่อสารรูปแบบใหม่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอีเมล หรือแม้กระทั่งการสนทนาผ่านอินเทอร์เน็ตแบบเห็นหน้าเห็นตากัน (web cam) ได้ทุกที่ทั่วโลก ผ่านโปรแกรมที่พ่วงมากับผู้ให้บริการอีเมลอย่าง MSN Messenger ของ Hotmail ฯลฯ

สิ่งที่ตามมาคือ พฤติกรรมผู้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในไทยเริ่มก้าวข้ามคำว่า “การสื่อสาร” ออกไปทุกที โดยเฉพาะเมื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่มีบริการเสริมใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาซึ่งเป็นผลพวงจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารเข้าสู่ยุคดิจิทัล (2G) เช่น การส่งข้อความสั้น (Short Messaging Service) การส่งภาพเคลื่อนไหว หรือแม้แต่การเล่นอินเทอร์เน็ต (WAP)

รูปธรรมล่าสุดเกี่ยวกับพฤติกรรมการสื่อสารของคนยุคปัจจุบันปรากฏชัดจาก การชุมนุมในคืนวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำคุณสมบัติของเทคโนโลยีการสื่อสารเหล่านี้มาใช้ให้ เป็นประโยชน์สูงสุดเพื่อต่อต้านการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารทุกรูปแบบ

ใครที่ไปร่วมชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หรือติดตามข่าวคราวผ่านอินเทอร์เน็ต ก็คงจะได้พบว่า เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ (www.manager.co.th) มีการเปิดรับข้อความภาพ (Multimedia Messaging Service-MMS) ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จากคนไทยทั้งในและต่างประเทศ โดยภาพเหล่านั้นจะถูกส่งขึ้นไปโชว์บนหน้าเว็บเพื่อเผยแพร่ออกไปทั่วโลก

ในเอกสารคู่มือของผู้จัดการชุมนุมยังระบุชัดว่า “โทรศัพท์มือถือเป็นอาวุธประจำกายของชาวประชาธิปไตยที่ทรงพลานุภาพที่สุดใน ยุคการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร เพราะไม่ว่าเขาจะปิดข่าวทางวิทยุหรือโทรทัศน์ แต่เราสามารถใช้เสียงรายงานไปยังเพื่อนฝูงโดยตรง ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถ SMS แบบลูกโซ่ แจ้งข่าวและความเคลื่อนไหวของการชุมนุม...”

สอดคล้องกับที่เจ้าพ่อวงการซอฟต์แวร์โลกอย่างนายบิลล์ เกตส์ แห่งบริษัท Microsoft ผู้คิดค้นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากกว่าครึ่ง โลก เคยกล่าวไว้ว่า “รัฐบาลในโลกยุคปัจจุบันไม่มีทางปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในระบบ การสื่อสารยุคใหม่ได้”

เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารวิวัฒน์มาถึงขั้นนี้ ก็คงไม่ต่างอะไรกับคลื่นลูกใหม่ที่ซัดคลื่นลูกเก่าให้จมหาย ...นี่ยังไม่นับถึงวันที่โลกของการสื่อสารไทยจะพลิกโฉมหน้าไปอีกครั้ง เมื่อเราก้าวสู่ยุค 3G


ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514&page=2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น