วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 20

เจ้าหน้าที่โทรเลขตามที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆ ให้ข้อมูลตรงกันว่า จำนวนการส่งโทรเลขในประเทศไทยลดลงอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นต้นมา ก่อนจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีให้หลัง สถิติล่าสุดคือในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ จำนวนการส่งโทรเลขในประเทศมีทั้งหมด ๘.๔ แสนครั้ง (ขณะที่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จำนวนการส่งอยู่ที่ ๒.๔๘ ล้านครั้ง)

“ยอดผู้ใช้บริการลดลงเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่อย่างพวกผมไม่รู้ตัวหรอกครับ มันลงมาช้าๆ เหมือนกราฟที่ค่อยๆ ตกลง” วิรัญพงศ์ แสงอินทร์ เจ้าหน้าที่โทรเลขประจำที่ทำการไปรษณีย์ราชดำเนิน เล่าให้เราฟังในวันที่ไปเยี่ยมเยือน

อาจด้วยเหตุนี้ ข่าวคราวการยกเลิกบริการโทรเลขที่มีให้เห็นอยู่เป็นระยะในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา จึงอาจไม่ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างใด

คนในภาคธุรกิจการสื่อสารอย่าง วิจิตร เพิ่มเพียรเกียรติ มองเรื่องนี้ว่า

“สำหรับผม บริการโทรเลขถึงเวลาที่เราจะต้องนำไปรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ แค่ให้มันยังคงทำงานในขั้นสาธิตได้ก็พอ เช่น วางเครื่องส่งกับเครื่องรับไว้คนละห้อง แล้วแสดงให้คนที่มาเยี่ยมชมเห็นว่าโทรเลขทำงานได้อย่างไร แค่นั้นก็พอแล้วในความรู้สึกของผม”

ส่วนเด็กรุ่นใหม่อย่าง ศุภเกียรติ ศุภศักดิ์ศึกษากร หรือ “แบ๊งค์” นักศึกษาธรรมศาสตร์ปี ๓ บอกว่า “เคยเห็นตอนเรียนชั้นประถม ตอนนั้นบุรุษไปรษณีย์เป็นคนนำมาส่ง จำได้ว่าเป็นซองสีเขียว รู้สึกคล้ายซองที่ไว้ใช้ทวงค่าโทรศัพท์บ้านยุคนี้ พูดถึงระบบโทรเลขผมว่าล้าสมัย เพราะจะส่งข้อความตอนนี้ก็ใช้ SMS ได้ อย่าลืมว่าโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนยุคนี้ไปแล้ว”

และสำหรับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง ก็ให้คำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนว่า โทรเลขคงถึงวาระที่จะต้องเลิก

สุภาพ เกษมุนี ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารข้อความ บมจ. กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า

“เราไม่มีแผนพัฒนาโทรเลขแล้วนับจากนี้ คอมพิวเตอร์ที่ชุมสายโทรเลขอัตโนมัติก็ไม่มีการอัปเกรดอีก ตอนนี้เหลือเพียงการเสนอเรื่องตามขั้นตอนเท่านั้น เพราะโทรเลขเป็นบริการสาธารณะตาม ‘พระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พ.ศ. ๒๔๗๗‘ ก่อนจะเลิกจึงต้องทำการศึกษาและสำรวจความเห็น รวมทั้งต้องแจ้งประเทศต่างๆ ที่ยังคงมีบริการโทรเลข ตอนนี้ผมบอกผลการสำรวจได้แค่ว่า สังคมไทยจะเสียแค่คำว่า ‘โทรเลข’ ไปเท่านั้น ส่วนตัวผมผูกพันนะครับ แต่ถ้าเก็บมันไว้ก็มีต้นทุนสูงมาก เรียกว่าไม่คุ้ม”


ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ หลังจากมอร์สสร้างระบบโทรเลขได้ ๑๖๒ ปี การสื่อสารที่ทำให้คน “มาชิดเคียงกัน” วันนี้ มิใช่โทรเลขอีกต่อไป

แต่จะอย่างไร สำหรับเจ้าหน้าที่โทรเลข ไม่ว่าจะเป็นรุ่นที่ยังทำงานอยู่หรือรุ่นที่เกษียณไปแล้ว ความคุ้มค่า คุ้มทุนของโทรเลข คงไม่ใช่เรื่องสำคัญ

“มันเป็นความผูกพันครับ”

นี่คือถ้อยคำสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งบอกกับเรา ในช่วงเวลาที่วันพรุ่งนี้ของโทรเลขดูจะรางเลือนเต็มที...



ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514&page=2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น