วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โทรเลขไทยสู่ยุค3G 18

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า บริการเสริมซึ่งกำลังกลายเป็นเนื้อหาหลักของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง ๑๔,๐๐๐ ล้านบาทในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ และจะพัฒนาต่อไปโดยเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การรับ-ส่งอีเมลที่เคยทำผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ก็จะสามารถทำได้บนโทรศัพท์มือถือ และหากมีการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 3G แล้ว รูปแบบของบริการเสริมก็จะได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า เทคโนโลยียุค 3G จะทำให้เราก้าวไปไกลจากคำว่า “การสื่อสาร” ซึ่งเทคโนโลยีเดิมๆ เคยตอบสนองความต้องการของเรามาแล้ว

ขณะที่หลายคนอาจกำลังคิดว่า เทคโนโลยีการสื่อสารระดับนี้ “เกิน” จากความจำเป็นอยู่มาก ในเวลาเดียวกันก็ยังมีคนอีกไม่น้อยที่รอคอยการมาถึงของมัน วันนี้ หากคุณท่องอินเทอร์เน็ตแล้วแวะตามเว็บบอร์ดชื่อดังอย่าง pantip.com ก็จะพบกระทู้ที่ตั้งขึ้นเพื่อถามว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใดสามารถรองรับ โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 3G ได้บ้าง เพื่อที่จะซื้อเตรียมไว้ แม้ว่ายุค 3G จะยังเดินทางมาไม่ถึงเมืองไทยก็ตาม

ความต้องการ “เครื่องมือสื่อสาร” ที่ตอบสนองการใช้งานนอกเหนือจาก “การสื่อสาร” ที่ปรากฏชัดในคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้งานที่ต่างจากคนยุคก่อน ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่า เทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่เหล่านี้กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงความคิดและ พฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อสังคม ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวว่า มีเด็กสาวยอมขายตัวเพียงเพราะอยากได้โทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุดที่สามารถรอง รับบริการเสริมใหม่ๆ ได้เหมือนที่เพื่อนมี หรือกรณีที่เด็กรุ่นใหม่มีสมาธิสั้นลงเพราะมัวง่วนอยู่กับมือถือ ฯลฯ

ผศ. ดร. พิรงรอง รามสูตร อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“การจะดูว่าเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้ไปจริงหรือไม่ เราต้องพิจารณาบริบทและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ทางสังคมด้วย เมื่อก่อนที่มีข่าวว่าเด็กสาวต้องขายตัวเพราะอยากได้มือถือ หลายคนมองว่านี่เกิดจากเทคโนโลยี ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ มันเกิดจากกระบวนการสร้างความต้องการผ่านระบบการตลาดต่างหาก เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ ที่เข้ามาอาจเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้คนเท่า นั้น

“เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น มันก็มีทั้งด้านดีและด้านร้าย ดีคือการสื่อสารมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้ชีวิตเราเบ็ดเสร็จมากขึ้น กระตุ้นให้คนบริโภคมากขึ้น และมีข้อมูลให้เรามากจนล้นเกิน อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้ สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีเป็นดีที่สุด”

หากมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีการสื่อสารเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีก่อน ความน่าทึ่งของเครือข่ายโทรศัพท์ยุค 3G วันนี้ อาจไม่ต่างอะไรจากความน่าทึ่งของโทรเลขที่มีต่อผู้คนในยุคก่อน และการก้าวเข้ามาของยุค 3G ในอนาคตอันใกล้นี้ ในแง่หนึ่งก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความเปลี่ยนแปลงตามวัฏฏะของโลก ต่างกันก็เพียงเป็นโลกแห่งเทคโนโลยีที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีใหม่ย่อมมาแทนที่เทคโนโลยีเก่า และเทคโนโลยีที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการของผู้คนได้ ก็อาจจะต้องเหลือเพียงความทรงจำเท่านั้น...



ที่มา:http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=514&page=2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น